การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 26

ข่าวทั่วไป Wednesday April 22, 2015 15:53 —สำนักโฆษก

การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 26

มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน ปี 2558 จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองลังกาวี โดยจะมีการประชุมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญก่อน ในวันที่ 26 เมษายน 2558 ได้แก่ การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 13 ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วยนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดเข้าร่วม และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 13 (AEM-EU Consultations) ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ผู้นำจะติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 ให้นโยบายเกี่ยวกับการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกฎกติกา มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นคลังอาหารของโลก การสร้างความเข้มแข็งแก่ SMEs และส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับภายนอก

โดยในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุนกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเด็นที่นำเสนอเพื่อการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การจัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME Bank) การจัดให้มีช่องทางเข้าเมืองสำหรับคนจากอาเซียน ณ จุดเข้าเมืองต่างๆ (ASEAN Lane) การปรับปรุงเว็บไซต์สำนักเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น สำหรับประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ การสร้างความแข็มแข็งให้ SMEs เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ ผลักดันให้มีการลด/เลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) การปรับประสานมาตรฐาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า

นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 13 เป็นเวทีที่ดูแลภาพรวมในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งขณะนี้อาเซียนสามารถดำเนินการตามมาตรการสำคัญได้ร้อยละ 90.5 โดยคงเหลือ 48 มาตรการ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ส่วนไทยดำเนินการตามมาตรการสำคัญได้ร้อยละ 93.3 โดยเหลือ 34 มาตรการ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2558 เช่น การลงนามและให้สัตยาบันข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 การให้สัตยาบันพิธีสาร 7 แนบท้ายความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การจัดทำร่างเอกสารกรอบวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 ซึ่งจะเป็นแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint ฉบับใหม่ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควรแล้ว โดยมีกำหนดที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 47 พิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารในเดือนสิงหาคมนี้ โดยคาดว่าหลังปี 2558 อาเซียนจะมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มข้น โดยจะเปิดเสรีเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการปรับประสานมาตรฐาน กฎระเบียบต่างๆให้สอดคล้องกันมากขึ้น

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 13 จะมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ ได้แก่ ผลการดำเนินการตามแผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปฉบับปี 2013-2014 และให้ความเห็นชอบแผนงานฯ ฉบับใหม่ ปี 2015-2016 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจโลกและการขยายความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาค ความก้าวหน้าของการเจรจาในเวทีพหุภาคีและทวิภาคี รวมถึงการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศสมาชิกอาเซียนรายประเทศ และความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ กิจกรรมภายใต้แผนดำเนินการด้านการค้าและการลงทุนฉบับใหม่ จะเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภูมิภาคในรายสาขาที่สนใจร่วมกัน ซึ่งสาขาเดิมที่จะดำเนินการต่อเนื่อง เช่น สาขาบริการ พลังงาน การขนส่งทางอากาศ ส่วนรายสาขาใหม่ที่ได้กำหนดร่วมกัน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรฐานต่างๆ พิธีการศุลกากร การลงทุน และประเด็นการค้าใหม่ๆ โดยจะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญของสองภูมิภาค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากเอกชนเข้าร่วมเพื่อกำหนดประเด็นอุปสรรคและการแก้ปัญหา ตลอดจนการมีส่วนร่วมระหว่างกันในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในอนาคต

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 22 ของการค้าไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอาเซียน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอาเซียน ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ