วท. แถลงผลงาน 6 เดือน โชว์ใช้นวัตกรรมเป็นข้อต่อ เสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Wednesday April 22, 2015 16:29 —สำนักโฆษก

21 เมษายน 2558 เวลา 14.00 น. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงานแถลงข่าวผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำโดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้บริหาร และ ผู้แทนหน่วยงานในสังกัด วท. เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา วท. ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่การปฏิรูปประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม พร้อมเป็นข้อต่อให้ทุกกระทรวงรวมถึงภาคเอกชน เพื่อเป็นพลังร่วม ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากความมุ่งมั่นตลอดมานำไปสู่ผลงานที่เห็นเด่นชัดในหลายมิติ อาทิ การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนาให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสู่เป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติและมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30:70 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นได้ดำเนินการเพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเดิมที่ 200% เป็น 300% รวมถึงการรับรองบริษัทเอกชนแทนการรองรับรายโครงการ นอกจากนี้ยังเร่งรัดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยฯได้ 2 เท่า รวมถึงมาตรการกระตุ้นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จากการจัดทำบัญชีนวัตกรรม และการผลักดันนวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติ

ด้านการปฏิรูปสู่สังคมนวัตกรรมโดยเฉพาะการสนับสนุนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ปลดล็อค นักวิจัยและนักเรียนทุนมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) ได้ โดยถือเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา นับเป็นอายุราชการหรืออายุงานของหน่วยงานต้นสังกัดรวมถึงการขึ้นเงินเดือนได้ตามที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด และได้จัดศูนย์อำนวยความสะดวกหรือ Clearing House ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินการพัฒนากำลังคน ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของ Mega Project ด้านระบบขนส่งทางราง โดยดำเนินการโครงการนำร่องโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของประเทศไทย

รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูปการกระจายโอกาสด้าน วทน. ลงสู่ชุมชน ได้จัดทำแผนปฏิรูปวิทยาศาสตร์ของประเทศและจัดระบบทำงานใหม่เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อตั้งทีมที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด ในทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังใช้กลไกของรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำหน้าที่ผู้บริหารงานวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกัน ขณะเดียวกันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสนับสนุน SMEs มาอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งชุมชนรวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เชื่อมโยงงานวิจัยสมุนไพรในห้องปฏิบัติการโดยสกัดสารสำคัญของสมุนไพรไทยสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพทั้งในรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเวชสำอาง เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและส่งเสริมการส่งออก ช่วยพี่น้องเกษตรกร ให้มีรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกวัตถุดิบ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในตลาดสากล สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) สามารถฉายรังสีส่งออกผลไม้ไทยเปิดตลาดใหม่ไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้แก่ ลำไย และลิ้นจี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติเพื่อการพัฒนาลู่ลานกรีฑา โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย ศึกษาและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่-ลานกรีฑา และพัฒนาเทคโนโลยีลู่-ลานกรีฑาให้ได้มาตรฐานสากล ขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนบ้านผักตบชวาไม้ตรา พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวา โดยการต่อยอดผลงานวิจัยของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอผักตบชวาต้นแบบในกลุ่มของสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกายเคหะสิ่งทอ ในด้านการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลและประชาชนที่สนใจเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการถอดรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอบนจีโนมมนุษย์ โดยรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อการเรียนรู้และวางแผนป้องกันไม่ให้ถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ด้านการปฏิรูป วทน. เพื่อทรัพยากร กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อดูแลการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ รวมถึงวางแผนป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ไฟป่า โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)บูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ในพื้นที่ที่เกิดความร้อนสูงบริเวณจุดความร้อน (Hot spot) และนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และอ้างอิงถึงกันได้ ไม่ก่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่เหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร เพื่อติดตามการลดลงของพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการขาดแคลนน้ำในฤดูเพาะปลูกของรัฐบาล

สำหรับการปฏิรูปการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติในอนาคตกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จับมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการนำร่องการบูรณาการการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดำเนินโครงการ “คืนความสุขให้เธอ..เยาวชน” ขณะที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา โดยการจัดทำโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ด้วยการมอบกล้องโทรทรรศน์อุปกรณ์และสื่อการสอนที่ผลิตเองทั้งหมดโดยคนไทย ให้แก่โรงเรียนและสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะจัดการอบรมครูด้านดาราศาสตร์ ฝึกทักษะการใช้กล้องฯและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ ทั้งนี้ สดร. ยังได้เปิดหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่จ.นครราชสีมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาด้วย

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในด้านการปฏิรูปการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน วทน.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ได้เปิดมิติของการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ 20 เซลล์ ต้นแบบเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มีความพิการทางสายตาสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ได้ผลิตวัสดุอ้างอิงทางเคมีฝีมือคนไทย ได้แก่ วัสดุอ้างอิงเพื่อวิเคราะห์แคดเมียมในข้าว วัสดุอ้างอิงเพื่อวิเคราะห์ค่าความหวาน และวัสดุอ้างอิงเพื่อวัดค่าออกซิเจนในอากาศ เพื่อเสริมศักยภาพของห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในทางด้านการตรวจวิเคราะห์และวัดค่าทางเคมี เพื่อสร้างหลักประกันทางด้านความคุณภาพและความปลอดภัยให้กับพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังตลาดโลก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัดเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นได้มีระบบข้อมูลสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำ ประกอบการปฏิบัติงานวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่และใช้สนับสนุนการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตให้กับท้องถิ่นได้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้สร้างหุ่นยนต์เก็บกู้รังสีสำหรับใช้ในหน่วยปฏิบัติการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีขึ้น

ในด้านต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย วทน. ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ครอบคลุมใน 14 สาขา นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายแห่งชาติญี่ปุ่น (GRIPS) สนับสนุนทุนทางด้านพัฒนานโยบาย วทน. ความมือระหว่างสถาบันวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ชั้นสูงระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น กับ สวทช. เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการวิจัยและพัฒนา แลกเปลี่ยนบุคลากรความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดตั้ง ศูนย์สิรินธรระหว่างประเทศด้านภูมิสารสนเทศ ขณะที่ GISTDA ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือไทย-อินเดีย จัดทำแผนที่เส้นทางวัฒนธรรมอาเซียน โดยทั้งสองโครงการจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ด้าน สดร. ลงนามความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์กับหอดูดาวยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านพหุภาคีของทั้งสองประเทศในอนาคต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ