วันนี้ (28 เม.ย. 2558) เวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 9 (the 9th Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) Summit ณ ห้อง Ballroom 1B อาคาร Langkawi International Convention Centre (LICC) ลังกาวี รัฐเคดะห์ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เลขาธิการอาเซียน
สำหรับผู้เข้าร่วมฝ่ายไทย ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานสภาธุรกิจ IMT-GT
โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะประธานการประชุม ได้กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม จากนั้น เป็นการรายงานผลความก้าวหน้า IMT-GT และทิศทางในอนาคต ก่อนเปิดโอกาสให้ผู้นำกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม
ภายหลังการประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ในส่วนของไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และ (2) เพี่อให้แนวทางการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ของเรา รวมทั้งเร่งรัดงานที่ยังคงคั่งค้าง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทั้งสามประเทศร่วมกันสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนและปราศจากความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน
ในปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญอย่างมากของภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ซึ่ง IMT-GT เองก็เป็นพื้นที่แห่งความมั่งคั่งของภูมิภาค และมีความสำคัญอย่างมากในการร่วมมือเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ดังนั้นเราจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ต่อไปอย่างเข้มข้น
ปัจจุบันการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT อยู่ภายใต้แผนห้าปีระยะที่ 2 ระหว่างปี 2555–2559 (IMT-GT Implementation Blueprint 2012-2016) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การดำเนินงานในระยะต่อไปควรต้องให้ความสำคัญใน 7 เรื่องให้เป็นรูปธรรม และควรกำหนดเป็น Road Map พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน ดังต่อไปนี้
เรื่องที่หนึ่ง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับเมืองในภูมิภาคสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนำร่องแล้วใน 5 พื้นที่เป้าหมายรอบประเทศ ทั้งนี้ พื้นที่สะเดา และปาดังเบซาร์ ที่จังหวัดสงขลาถือเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาในระยะแรก นอกจากนั้น รัฐบาลก็ยังได้ประกาศให้มีการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะสองต่อไปด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีความสนใจให้มาลงทุนลักษณะหนึ่งบวกหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยด้วย
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งด่านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกบริเวณชายแดน นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าการก่อสร้างเพื่อขยายด่านสะเดาในพื้นที่เดิมจะแล้วเสร็จในปี 2559 ซึ่งจะรองรับปริมาณการขนส่งต่อไปได้อีก 5 ปี และรัฐบาลได้จัดหาที่ดินเพื่อขยายด่านสะเดาแห่งใหม่ได้แล้ว 238เอเคอร์ (595 ไร่) เพื่อเตรียมรองรับปริมาณการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้าและคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2559 ในเรื่องนี้ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและมาเลเซียเร่งรัดการวางแผนร่วมกันเรื่องจุดผ่านด่านและถนนเชื่อมโยงสำหรับด่านสะเดาแห่งใหม่และด่านบูกิตกายูฮิตัมในฝั่งมาเลเซียโดยเร็ว
เรื่องที่สอง การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศและทางทะเลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้เร่งหารือร่วมกันเพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่อำเภอตากใบ-เมืองเปิงกาลันกุโบร์ และสะพานระหว่างเมืองรันเตาปันยัง-อำเภอสุไหงโกลกแห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องสะพานนี้มีการพูดกันมานาน ตั้งแต่ปี 2550 นับเกือบสิบปีแล้ว จึงขอเสนอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมาเลเซียและไทยเร่งรัดให้ได้คำตอบโดยเร็ว เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยืนยันที่จะขับเคลื่อนโครงการความเชื่อมโยงที่มีลำดับความสำคัญสูงของ IMT-GT (IMT-GT Priority Connectivity Project) ที่จะสนับสนุนความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคอาเซียนภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ดังนี้
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหาดใหญ่-สะเดา โครงการนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตกลงกับทางฝ่ายมาเลเซีย เพื่อให้จุดข้ามแดนแห่งใหม่นั้นตรงกัน
โครงการพัฒนาท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรังและพัฒนาเส้นทางการเดินเรือเฟอร์รี่ขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร (Ferry RoRo Services) เชื่อมโยงกับปีนังและเบลาวัน
โครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าสำหรับอนุภูมิภาค IMT-GT และเชื่อมโยงสู่มาเลเซีย ตลอดไปถึงเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย
โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ซึ่งรัฐบาลไทยหวังว่า ท่าอากาศยานเบตง จะเป็นท่าอากาศยานที่รองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวจากภายนอกให้เข้ามาเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซียได้อย่างสะดวกมากขึ้น
เรื่องที่สาม การสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ IMT-GTจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสามประเทศประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหมอกควัน น้ำท่วม หรือขยะและมลพิษในเมือง ทั้งนี้ ไทยดีใจที่ทั้งสามประเทศมีความร่วมมือที่จะพัฒนาเมืองสีเขียว (Green City) ให้เป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองอื่น ๆ โดยในส่วนของประเทศไทยด้วยความช่วยเหลือของธนาคารพัฒนาเอเชียได้มีการศึกษาเบื้องต้นในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองสีเขียวของจังหวัดสงขลา ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบัน ยังได้ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะที่นับวันแต่จะเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรม จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต นายกรัฐมนตรีจึงได้เริ่มโครงการเตาเผาขยะและแปลงเป็นไฟฟ้านำร่อง 3 โครงการ เชื่อว่าเราจะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ประชาชนของเราได้ในอนาคต
เรื่องที่สี่ การพัฒนาความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการตรวจและการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลร่วมกันในพื้นที่ IMT-GT การใช้ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูงในการตรวจสอบแหล่งที่มาและมาตรฐานของวัตถุดิบในขั้นตอนการผลิตฮาลาลตลอดจนการใช้ตราผลิตภัณฑ์ฮาลาลIMT-GT ร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
เรื่องที่ห้า การพัฒนาด้านกฎระเบียบ กฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกัน IMT-GTควรจะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะทำให้การเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งของประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นอย่างก้าวหน้าและเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ในโอกาสที่ปลายปีนี้เราจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เราทั้งสามประเทศ ควรจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของเราเร่งรัดแก้ไขกฎระเบียบข้ามแดนให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าข้ามแดน การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
เรื่องที่หก การพัฒนาด้านการประมงเราทั้งสามประเทศควรกระชับความร่วมมือระหว่างกันในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อใช้โอกาสของการมีศักยภาพร่วมกันดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอันดีและความยั่งยืนในอนุภูมิภาคด้วย เพื่อให้ IMT-GT เป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่ดีและสร้างสรรค์ที่สามารถขยายผลสู่ความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนได้ และในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการประมง (IMT-GT Fisheries Conference) ณ จังหวัดสงขลา ในเดือนพฤษภาคม นี้ ขอเชิญชวนให้ภาคราชการและภาคธุรกิจของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย มาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยในการประชุมก็จะมีประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มาเข้าร่วมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสและแนวทางอันดีในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างกันทั้งทางด้านวิชาการและการร่วมลงทุนในการทำการประมงในอนุภูมิภาค IMT-GT ต่อไป
เรื่องที่เจ็ด การพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งสามประเทศเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก 2 ชนิด คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับภาวะตลาดโลก และราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ก็มีผลต่อเกษตรกร และ ต้องยอมรับรับว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำทั่วโลก นายกรัฐมนตรีจึงเสนอว่า ทั้งสามประเทศควรจะร่วมมือให้มากขึ้นในการสร้างตลาดยางพาราร่วมกัน และพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ทัดเทียมกัน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยจะทำงานร่วมกับอินโดนีเซียและมาเลเซียรวมทั้งหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความสุขสงบและสันติของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า งานของ IMT-GT จะมีความก้าวหน้าและสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือ 3 ฝ่ายคือ รัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเราได้มีเวทีให้ทั้งสามฝ่ายได้หารือกัน และมั่นใจว่า จะประสบผลสำเร็จตามแผน
โครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:IMT-GT) ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้เห็นชอบที่จะให้ผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคี ระหว่างภาคใต้ของไทย ภาคเหนือของมาเลเซีย และพื้นที่บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการ โดยเน้นความสำคัญของภาคเอกชนภายใต้สภาธุรกิจ IMT-GT
สาขาความร่วมมือของ IMT-GT มี 6 สาขา ได้แก่ 1.การค้าการลงทุน 2.ท่องเที่ยว 3.เกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม 4. โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง 5. ผลิตภัณฑ์และบริหารฮาลาล 6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th