ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 นายกรัฐมนตรีได้ร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการ (Plenary) และไม่เป็นทางการ (Retreat) การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจน ประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT Summit
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการประชุมว่า ในส่วนของไทยได้สนับสนุนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการเป็นประชาคมอาเซียน การส่งเสริมเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกษตรกรหนีจากภาคการผลิต รวมทั้งการหลีกเลี่ยงที่เป็นคู่แข่งสินค้าเกษตร แต่ให้ส่งเสริมและผลักดันร่วมกัน โดยเฉพาะการส่งเสริม SMEs เนื่องจากเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของมูลค่าการส่งออก
สำหรับการหารือระดับผู้นำอาเซียน เน้นการหารือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน และอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมองข้ามความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอในที่ประชุมว่า น่าจะมีการสร้างเครือข่ายให้กับทายาทอาเซียนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ (young entrepreneur) ที่มีศักยภาพในอนาคต เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวม
ในการประชุมในครั้งนี้ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาคมตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียนเป็นสำคัญ ผ่านการดำเนินงานอย่างบูรณาการภายใต้ 3 เสา ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยไทยสามารถผลักดันข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อไทยให้ปรากฎอยู่ในปฎิญญาดังกล่าว อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่อาเซียนในด้านต่างๆ ปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยขบวนการผู้ยึดถือแนวทางสายกลางระดับโลก เพื่อส่งเสริมแนวคิดสายกลางและการยอมรับความแตกต่าง ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคอาเซียนมีความสงบและสันติด้วย และ ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างประชาคม และประชาชนอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง รู้รับ ปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของผู้นำอาเซียนที่จะร่วมมือกันในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิภาค
ที่มา: http://www.thaigov.go.th