1) การปรับปรุงกฎหมายประมงภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล
2) การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action: NPOA-IUU) ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
3) การติดตั้งระบบติดตามตำแหน่ง (Vessel Monitoring System: VMS) บนเรือประมงไทยให้ทั่วถึง เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) การมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ที่เข้มข้น รวมถึงการตรวจสอบว่าสินค้าประมงที่จับนั้นถูกต้องตามกฎหมาย เช่น มีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ถูกกฎหมาย (catch certificate)
นางอภิรดี กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยจัดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีความบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา และนายกรัฐมนตรีได้ลงมากำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย และจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติการประมงฯ ฉบับใหม่ การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง (traceability) การเร่งติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมง (VMS) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังคงเห็นว่า การดำเนินการของไทยยังไม่เพียงพอ อาทิ กฎหมายควบคุมการทำประมงยังมีขอบเขตจำกัด บทลงโทษที่ยังไม่เข้มงวดและชัดเจนเพียงพอ การตรวจสอบย้อนกลับยังไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น จึงได้ประกาศให้ใบเหลืองกับไทยในที่สุด เพื่อเป็นการเตือนให้ไทยเร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป โดยจะยังไม่มีมาตรการลงโทษทางการค้าที่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังสหภาพยุโรปแต่อย่างใด แต่หากไทยยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการประมงแห่งชาติจนเป็นที่พอใจภายใน 6 เดือน สหภาพยุโรปก็อาจจะพิจารณาประกาศให้ใบแดงกับไทยและนำมาสู่มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยได้
นางอภิรดี กล่าวต่อว่าจากนี้ไป ต้องไปศึกษาในรายละเอียดว่าที่สหภาพยุโรปเห็นว่าไทยยังทำไม่เพียงพอและจะต้องทำเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายยังมีอะไรอีกบ้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรีบเร่งแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องนี้ ในส่วนต่างประเทศ ได้จัดจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ในต่างประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะ EUเร่งชี้แจงประชาสัมพันธ์แก่ผู้เกี่ยวข้อง คือ กรรมาธิการยุโรป ผู้นำเข้า และผู้บริโภคในสหภาพยุโรป ให้ได้รับทราบข้อมูลการเร่งรัดการดำเนินการแก้ปัญหาของไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงของไทยมาโดยตลอด และในส่วนภายในประเทศ ได้ประสานกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ปรับตัวและมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานที่สหภาพยุโรปเรียกร้อง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th