พม. ย้ำร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... ช่วยตัดวงจรการเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Thursday April 23, 2015 17:10 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒๓ เม.ย. ๕๘) เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอนุสันต์ เทียนทอง ผู้ตรวจราชการและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขอทาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ฯลฯ ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ซึ่งการดำเนินการเป็นไปในลักษณะของการคุ้มครองช่วยเหลือคนขอทาน ตามนโยบาย ๓P ได้แก่ ๑) Policy การกำหนดและวางแผนนโยบายอย่างต่อเนื่อง ๒) Protection การคุ้มครองและช่วยเหลือคนขอทานอย่าง ครบวงจร และ ๓) Prevention การป้องกันปัญหาขอทานเพื่อไม่ให้กลับมาขอทานซ้ำอีก ทั้งนี้ ได้จัดทำบันทึก ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงวัฒนธรรม องค์กรภาคเอกชน และองค์กรด้านศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการขอทานเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

นายอนุสันต์ กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ๑) ห้าม ไม่ให้ขอทาน และมีการกำหนดโทษผู้กระทำการขอทาน (จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ๒) กำหนดให้การเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถในที่สาธารณะ ไม่ถือเป็นการขอทาน แต่ต้องแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่น หากไม่แจ้งหรือไม่ทำตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำหนด (ปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท) ๓) ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน กรรมการ ๑๐ คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ๗ คน และ ๔) มีบทลงโทษกับผู้ที่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ฯลฯ ให้ผู้อื่นมาขอทาน หรือมาเป็นประโยชน์ในการขอทานของตน (จำคุก ๓ ปี ปรับ ๓๐,๐๐๐ บาท)

“อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. .... จะทำให้การแก้ไขปัญหาขอทานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวไม่ประสงค์ที่จะการปราบปรามขอทาน แต่จะเป็นกลไกช่วยเหลือขอทานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งขอทานที่กระทำผิดจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการฝึกอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้เพื่อไม่ให้กลับมาขอทานซ้ำอีก ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างยั่งยืน” นายอนุสันต์ กล่าวท้าย.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ