ทั้งนี้ ผลดีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภารธุรกิจและภาคครัวเรือนลดลง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดต่ำลงจะถูกส่งผ่านไปยังต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีเงินเหลือสำหรับการลงทุนหรือบริโภคเพิ่มเติม นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงก็จะดึงดูดให้ภาคธุรกิจเริ่มโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากสามารถระดมทุนได้ในอัตราเบี้ยที่ถูกลงด้วย
ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูเป็นผลเสียต่อผู้ฝากเงินที่จะได้รายได้ดอกเบี้ยน้อยลง แต่นับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อผลตอบแทนของเงินฝากลดต่ำลง ก็จะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนนำเงินออมไปใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย เนื่องจากทำให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดการเงินไทยในภาพรวมลดต่ำลงเมื่อเทียบกับตลาดการเงินในประเทศอื่นๆ ที่ยังมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งจะทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศน้อยลง และเมื่อเงินทุนไหลเข้าประเทศน้อยลงก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนลงมีผลดีคือ ช่วยกระตุ้นการส่งออก เนื่องจากสินค้าชึ้นเดิมที่เราตั้งราคาเป็นบาทจะถูกลง เมื่อแปลงราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ (หรือสกุลเงินอื่นๆ) หรือหากตั้งราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกก็จะได้กำไรเป็นบาทมากขึ้น และมีเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ เช่น ตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น
สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th