สำหรับการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานนั้น พี่น้องแรงงานจะต้องพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง โดยรัฐบาลจะดูแลในเรื่องกฏหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานที่มีฝีมือ ที่ผ่านมา ต่างชาติพอใจกับการปรับปรุงกฏหมายและกฎระเบียบของไทยและพร้อมจะเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ ไทยจะเน้นรับการลงทุนที่เป็นประโยชน์ เช่น เทคโนโลยี ความทันสมัย และนวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ เพื่อให้แรงงานไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน พี่น้องแรงงานควรรวมกลุ่มกันจัดทำ Roadmap แล้วนำมาพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาระบบแรงงานไทยให้เหมาะสมต่อไป
นายกรัฐมนตรีประสงค์ให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยภาคธุรกิจและแรงงานจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา รัฐบาลจะลดบทบาทจากผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก ขณะเดียวกันจะทำให้ไทยและอาเซียนมีความเข้มแข็งโดยใช้ยุทธศาสตร์ “Thailand+1” หมายความว่า อุตสาหกรรมที่มีฐานผลิตในประเทศไทยและต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ก็จะแบ่งไปลงทุนเพื่อผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วส่งกลับมาป้อนบริษัทแม่ในเมืองไทย เชื่อมโยงกันด้วย “ห่วงโซ่การผลิต”
นอกจากนี้ จะดูแลช่วยเหลือแรงงานภาคการเกษตร เนื่องจากทุกวันนี้ข้าวไทยราคาตกเพราะคุณภาพไม่ดี รีบเก็บเกี่ยวเกินไป ขายได้ในราคาต่ำ หากขายไม่ได้จะเหลือเก็บในคลังข้าว ทำให้ต่างชาติมีอำนาจในการต่อรองราคา นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้หาวิธีลดต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาให้ชาวนาไทยมีเงินเหลือเก็บเพื่อใช้เลี้ยงดูครอบครัว และที่สำคัญไม่เป็นหนี้
ในส่วนของการยกระดับภาคการผลิต รัฐบาลได้เพิ่มงบลงทุนจาก 10% เป็น 20% ของรายจ่ายภาครัฐ และเพิ่มงบการวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็น 1% ให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของโลก โดยงบลงทุนนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th