“กระทรวงฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี และอีก 9 เขตประกอบการอุตสาหกรรม ได้แก่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี เขตอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนอุตสาหกรรม ไอ.พี.พี. จังหวัดระยอง เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชระยอง จังหวัดระยอง เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกับท้องถิ่น ชุมชน และธุรกิจอุตสาหกรรม มีระบบตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับการพัฒนาและการประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง แยกเป็นการส่งเสริมผ่านนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เป้าหมายคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน การสร้างระบบการติดตามและการรายงานผล การส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน ผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว โดยล่าสุด(9เม.ย.) มีผู้ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับต่างๆ จำนวน 18,628 ราย การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โรงงานสร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม มีผู้ประกอบกิจการได้รับการรับรองมาตรฐาน CSR-DIW AWARD จำนวน 665 ราย” ปลัดอรรชกา กล่าว
ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า หลังศึกษาแผนแม่บทใน 5 จังหวัดนำร่องแล้วเสร็จ กรอ. จะส่งต่อแผนแม่บทดังกล่าวไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการกิจกรรมตามอำนาจหน้าที่มุ่งสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายเบื้องต้นจะเป็นการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยให้ได้ภายในปี 2561
สำหรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้ตอบโจทย์หลักที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบ โดยคำนึงถึงกรอบการพัฒนา 5 มิติ ได้แก่ 1. มิติกายภาพ 2. มิติเศรษฐกิจ 3. มิติสิ่งแวดล้อม 4. มิติสังคม และ 5. มิติการบริหารจัดการ ทั้งนี้ แผนแม่บทพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 จังหวัดดังกล่าวดำเนินการเสร็จแล้ว จากนั้น จะนำมาต่อยอดเพื่อจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรมทั้งประเทศว่าแต่ละจังหวัดมีความเหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านใด โดยมีเป้าหมายหลักให้โรงงานอุตสาหกรรม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้และโรงงานมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสามารถประกอบกิจการอยู่ได้ ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย มีมาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว และชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่โรงงานก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ที่มา: http://www.thaigov.go.th