นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (12 กันยายน 2557 – 31 มีนาคม 2558) กระทรวงไอซีทีได้เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ตามนโยบายรัฐบาล ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กฎหมายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งได้รวมกฎหมาย 3 ฉบับไว้ในฉบับเดียวกัน คือ กฎหมายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการแยก พ.ร.บ.เป็น 2 ฉบับ คือ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม คาดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจพิจารณาแล้วเสร็จต้นเดือนพฤษภาคม 2558 และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นอกจากนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ให้แต่งตั้งคณะทำงาน 5 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 2. คณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) 3. คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล 4. คณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และ 5. คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย
สำหรับภารกิจที่สำคัญของกระทรวงไอซีที ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Cyber Security) และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมที่กระทำผิดกฎหมาย โดยดำเนินการทางกฎหมายเรื่องเว็บไซต์หมิ่นสถาบันและเว็บไซต์ลามกอนาจาร ประมาณ 3,900 ยูอาร์แอล และมีคำสั่งศาลอาญา (หมายเลขคดีดำ) ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ประมาณ 3,400 ยูอาร์แอล คิดเป็นร้อยละ 87.32 ส่วนการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะกรณีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยยึดหลักยุทธศาสตร์ 4 ป. ได้แก่ ปราบปราม ป้องกัน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ซึ่งได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 10 ราย รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ความเห็นชอบ ขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาเสนอเรื่องให้คณะกรรมการฯพิจารณา 184 หน่วยงาน และผ่านความเห็นชอบแล้ว 97 หน่วยงาน
ด้านการบูรณาการโครงข่ายสื่อสาร National Broadband ของภาครัฐ กระทรวงไอซีทีได้บูรณาการ Core Network (โครงข่าย Backbone Fiber Optic) ของทุกหน่วยงานภาครัฐที่มีการลงทุนไปแล้ว ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายภาครัฐร่วมกันอย่างคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน และการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ Internet Protocol รุ่นที่ 6 (IPv6) เพื่อรองรับการใช้งานการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในอนาคต
สำหรับการแก้ไขปัญหาสัมปทาน กรณีข้อพิพาทสัมปทานรัฐวิสาหกิจของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยเฉพาะเรื่องเสาโทรคมนาคม ซึ่งตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดให้ดำเนินการหาข้อยุติให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยทาง CAT ได้เจรจากับบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่มีข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ และเมื่อเจรจาเรียบร้อยแล้วจะเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป
ส่วนกรณีสัมปทานดาวเทียม คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงานหลังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 โดยมีประเด็นในการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. กรณีเงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม 3 เกิดความเสียหาย จำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐ มีข้อยุติตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า กระทรวงไอซีทีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญา 2. กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยมิชอบ และ 3. กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ ครั้งที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 โดยกระทรวงไอซีทีได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ คณะกรรมการตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานตามกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2558 ได้แก่ การจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างจากกระทรวงไอซีที ซึ่งจะมีส่วนราชการใหม่ 1 ส่วน คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐอีก 1 แห่ง คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558 ตลอดจนการนำเสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเดือนกันยายน 2558
การดำเนินงานในระยะเร่งด่วน จะพัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้งบประมาณ 3,755 ล้านบาท โดยกระทรวงไอซีทีร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ริเริ่มให้มีความร่วมมือเพื่อจัดทำโครงการนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลขึ้น ซึ่งในปี 2558 มุ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการนวัตกรรมงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การบูรณาการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะบุคลากรและการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs OTOP ชุมชน ชนบทในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ได้จริง อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการ และพัฒนาทักษะบุคลากรให้สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนการดำเนินงานในระยะยาว กระทรวงไอซีทีจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ใยแก้วนำแสง ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีแผนจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม จากการโอนสินทรัพย์ของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของโครงข่ายเข้าสู่องค์กรกลาง ซึ่งมีโครงการเร่งด่วน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการนำร่องเพื่อสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงเข้าถึงโรงเรียน 5,000 แห่ง และจัดให้มีบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงใน 2 จังหวัดนำร่องในพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดพิษณุโลกและหนองคาย
การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) และแผนปฏิบัติการการบูรณาการศูนย์ข้อมูล รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานด้านรูปแบบธุรกิจและการลงทุน เพื่อให้เกิดการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย มีแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน เช่น นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และให้เกิดการสร้าง Co-Generator เป็นต้น
นอกจากนี้จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทยในระยะยาว (Lifelong Learning) ที่มีความครอบคลุมในทุกมิติ โดยดำเนินการโครงการระยะสั้น 3 โครงการ ได้แก่ โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนชายขอบ มุ่งเน้นการนำไฟฟ้าและอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงชุมชนชายขอบให้มีระบบพื้นฐานรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านระบบ e-learning โครงการพัฒนาระบบสื่อการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้
ด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล ส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล และส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล กำหนดมาตรการหลักที่เร่งดำเนินการ ได้แก่ ส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้มีศักยภาพในการใช้ระบบออนไลน์ทำธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาระบบ e-supply chain เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยอาศัยมาตรฐานข้อมูลและระบบบริการด้วยดิจิทัล สนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล (Digital Entrepreneurs) พัฒนาธุรกิจ/อุตสาหกรรมเนื้อหาดิจิทัล (Digital Contents) ที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น การ์ตูน เกม ละคร เป็นต้น และกำหนดกรอบแนวทางในการผลักดัน โดยในระยะเร่งด่วนจะมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ด้าน Entrepreneurs ด้าน e-Payment และด้าน e-Commerce รวมทั้งผลักดันมาตรการส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัลที่ประกอบด้วย มาตรการด้านภาษี มาตรการด้านการร่วมลงทุน มาตรการด้านการจัดตั้งและปิดกิจการ มาตรการด้านการสนับสนุนด้านการเงิน มาตรการด้านคนเข้าเมือง มาตรการด้านจัดจ้างภาครัฐ และมาตรการด้านการจดลิขสิทธิ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ
และการจัดงาน Bangkok International ICT Expo 2015 ระหว่างวันที่ 20 - 23 สิงหาคม 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี โดยจะมีการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงศักยภาพด้าน ICT ของประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
“กระทรวงไอซีทีมุ่งมั่นที่จะดำเนินการด้านต่างๆ สู่การเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อันจะเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ยุคใหม่ ที่เศรษฐกิจมีความทันสมัยและสังคมที่สงบสุขอย่างยั่งยืน” นายพรชัยฯ กล่าว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th