รมว.แรงงาน บูรณาการหลายหน่วยเร่งแก้ปัญหา‘ขาด’แรงงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2015 16:18 —สำนักโฆษก

เพิ่มศักยภาพศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ให้เป็นฐานข้อมูลกลาง รองรับภาคนโยบาย ภาคการผลิต ภาคการศึกษา อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องพัฒนาความสามารถในการผลิต พัฒนากำลังแรงงานรองรับเทคโนโลยีการผลิตในอนาคต

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ครั้งที่ 1/2558 ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต โดยทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีแรงงานที่มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการแรงงานของภาคการผลิต หรือหากแรงงานไทยมีไม่เพียงพอ แนวทางในการหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานควรจะต้องเป็นไปในแนวทางใด ทั้งนี้ที่ประชุมมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่าควรจะต้องไปเพิ่มที่ความสามารถในการผลิตหรือผลิตภาพแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีการผลิต โดยบทสรุปของการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตจะจบลงที่ควรจะมีวิธีการอย่างไร กระทรวงแรงงานจะได้กำหนดเป็นแผนการปฏิบัติ (Action Plan) และจะต้องปรับปรุงศูนย์ข้องมูลแรงงานแห่งชาติให้มีความทันสมัย มีฐานข้อมูลตัวเลขที่สามารถนำมาใช้วางแผนและเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันให้ได้ ส่วนการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Productivity) เห็นว่าต้องส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไทย

“การประชุมเป็นการหารือในเรื่องของฐานข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ร่วมกันให้ได้ในทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ ซึ่งตัวเลขความต้องการแรงงานบางอย่างยังไม่แน่ชัด ต้องรอแผนงานที่ชัดเจน เช่น โครงการเครือข่ายคมนาคม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมต่างๆในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการก่อสร้างรถไฟ ถนน สาธารณูปโภคต่างๆ อีกมากมาย เมื่อภาพตรงนั้นชัดจะทำให้รู้ว่ามีกำลังแรงงานที่ต้องการจำนวนเท่าไร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

พลเอก สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันว่ามีความหลากหลาย อาทิ งานที่เรียกว่า 3D (Dirty = งานสกปรก, Difficult = งานยาก และ Dangerous = งานเสี่ยงอันตราย) เป็นกลุ่มงานที่หาคนไทยทำไม่ได้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน หรือบางพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากแต่คนไทยอาศัยอยู่ไม่มากก็จำเป็นต้องใช้แรงงานจากต่างด้าวเข้ามาทำ ขณะที่แรงงานไทยบางส่วนไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของประเทศทั่วโลกที่จะต้องมีคนทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ วันนี้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานเท่าไรในภาคอุตสาหกรรม ภาคการพาณิชย์ ภาคบริการ ซึ่งก็มีข้อมูลจากหลายภาคส่วนที่รวบรวมข้อมูลตามภารกิจของหน่วยงาน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม เสนอว่าประมาณ 3 - 6 แสนคนในอีก 3 ปีข้างหน้า

“ต้องชี้แจงว่าการบอกตัวเลขขาดแคลนแรงงานจะไม่ใช่ตัวเลข ณ วันนี้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีตัวเลขการขาดแคลนแรงงานกำหนดประมาณ 1.65 แสนคน หมายความว่าผู้ได้รับการสนับสนุนจาก BOI ซึ่งกว่าโรงงานจะสำเร็จเรียบร้อยใช้เวลา 3-5 ปี ตัวเลขก็อาจมีการผันแปรไป” พลเอก สุรศักดิ์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยการเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าไปฝึกงานในบริษัทก่อนจบการศึกษาในลักษณะ Learning by doing ทำให้นักเรียน นักศึกษาได้ทำงานจริงในสถานที่จริง เมื่อจบมาแล้วจะทำให้สามารถทำงานได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยสามารถปรับเพิ่มในเชิงปริมาณให้กับกำลังแรงงานที่มีคุณภาพได้มากขึ้น รวมถึงการหารือการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในเรื่องของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มทักษะฝีมือของแรงงานต่างด้าวด้วยเพื่อรองรับบริษัทงานของคนไทยทั้งที่ทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและฐานการผลิตที่คนไทยย้ายไปทำที่ประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการประชุมประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยและสภาองค์การลูกจ้างคนงานไทย เป็นต้น

สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำรวจความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ ปี 2557 จากสถานประกอบการ 40,431 แห่ง 29 ประเภทกิจการ ผลการศึกษาพบว่า สถานประกอบการต้องการแรงงาน จำนวน 200,628 คน และเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนแรงงาน จำนวน 101,923 คน กิจการที่ขาดแคลนมาก 5 อันดับแรก คือ ขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ จำนวน 24,040 คน ก่อสร้าง จำนวน 10,141 คน อาหารและอาหารสัตว์ จำนวน 6,338 คน ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร จำนวน 6,321 คน และขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า จำนวน 5,509 คน

กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ