สภาวิชาชีพฯ ชูข้อเสนอปฏิรูปการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพสู่ร่างรัฐธรรมนูญ 2558

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2015 17:43 —สำนักโฆษก

(24 เมษายน 2558 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ) เวทีเสวนา กระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ : ควรมีการปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง จัดโดย ราชบัณฑิตสภา สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กอสส. ชง 4 ข้อปฏิรูปรายงาน EIA/EHIA หนุนการประเมิน SEA โดยหน่วยงานภาครัฐก่อนดำเนินโครงการฯ ชูบทบาทสภาวิชาชีพฯ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีระบบติดตามตรวจสอบแบบจริงจัง

ในการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง กระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ : ควรมีการปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง ณ ห้องกมลพร โรงแรมเดอะสุโกศล ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 150 คน

ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิตและประธานกรรมการ กอสส. กล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญและมีการเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีการเร่งปฏิรูปคือ การปฏิรูปการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการปฏิรูปการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เนื่องจากพบว่า โครงสร้างของระบบวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาหลายด้าน ไม่สามารถเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพต่อการจัดการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และลดความขัดแย้งระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ได้ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อป้องกันและลดผลกระทบของโครงการต่อชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมศักดิ์ กล่าวว่าจากการระดมความเห็น ที่ประชุมมีข้อเสนอดังนี้ ให้มีการบูรณาการการทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ให้ครบทุกด้านโดยหน่วยงานภาครัฐก่อนดำเนินโครงการฯ สนับสนุนให้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทด้านการควบคุมมาตรฐานของผู้จัดทำรายงาน โดยเฉพาะด้านใบประกอบวิชาชีพ นอกจากนี้ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือ การมีระบบติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพหลังจากมีการอนุมัติ/อนุญาตให้ดำเนินโครงการไปแล้ว โดยเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิในการจัดทำรายงานการติดตามตรวจสอบที่ถูกต้องและมีใบรับรองจากสภาวิชาชีพ รวมทั้งต้องกำหนดเกณฑ์ในการติดตามตรวจสอบที่เชื่อถือได้

อนึ่งการประชุมเรื่อง กระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ : ควรมีการปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง ครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ 3 องค์กรคือ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำข้อเสนอที่จะช่วยสนับสนุนการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมของคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูป ซึ่งจะนำสู่การแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

รายละเอียดข้อมูล : สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02-333-3700 ต่อ 3010,3020, 3891

โทรสาร 02-333-3890

เว็บไซต์ http://www.cstp.or.th

อีเมล์ติดต่อหน่วยงาน : cstp2010@hotmail.com

เผยแพร่ข่าวและถ่ายภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          โทร. 02 333 3727-3732  โทรสาร 02 333 3834     E-Mail : pr@most.go.th    facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ