ดร.พิเชฐ อธิบายเกี่ยวกับโครงการ Talent Mobility ว่าเป็นนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยภาครัฐไปทำงานในภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของภาครัฐ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน เป็นการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชน ทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนระยะยาว
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดให้มีศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility หรือ Talent Mobility Clearing House ในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาครวม 5 แห่ง ทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการ บุคลากร และหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ พัฒนาฐานข้อมูลความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของสถานประกอบการ และฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐเพื่อใช้สืบค้นและจับคู่ (Talent Mobility Database) และสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐในเครือข่าย รวม 13 แห่ง
นอกจากนี้ รมว.วท. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความพยายามของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะปฏิรูปประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม เพื่อเป็นพลังร่วมไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1. การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนาให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสู่เป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติและมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30:70 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นได้ดำเนินการเพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเดิมที่ 200% เป็น 300%
2. มาตรการกระตุ้นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จากการจัดทำบัญชีนวัตกรรม และการผลักดันนวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานที่จะประเมินพร้อมออกใบรับรองผลงานนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำไปยื่นกู้สินเชื่อกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้
3. ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ยินดีให้การสนับสนุนธุรกิจกลุ่มนวัตกรรมและสร้างสรรค์เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน
4. ให้การสนับสนุนด้านกำลังคนให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ในประเทศไทย เพื่อป้องกันการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ
5. การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน โดยเสริมศักยภาพของห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในทางด้านการตรวจวิเคราะห์และวัดค่าทางเคมี เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการส่งออก พร้อมกับสนับสนุนเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ ระบบขนส่งทางราง และเขตนวัตกรรมพิเศษ
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail : pr@most.go.th facebook : sciencethailand
Tags Talent Mobility - ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ - พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th