ส่วนกรณีพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใกล้จุดเสี่ยงเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เนื่องจากใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย ก็มีการติดตั้งระบบเตือนภัยครอบคลุมในวงกว้างทั้งที่เป็นระบบเตือนภัยของไทยและจากประเทศอื่นๆ ด้วย รวมถึงมีหน่วยงานต่างๆ ได้ ตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่องหลังเหตุสึนามิในไทยเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งระบบแจ้งเตือนจะมีเวลาให้ราว 1 ชม.ก่อนเกิดเหตุเพื่อให้สามารถอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ได้รับทราบข้อมูลจากนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ว่ากรณีเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น บริเวณเกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ขนาดความรุนแรง 4.6 เกิดจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง วางตัวแนวตะวันออกเฉียงเหนือ - ตะวันตกเฉียงใต้ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี - จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต และบริเวณดังกล่าวได้เกิดแผ่นดินไหวอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งขนาดความแรงไม่มากทำให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่อาจไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน อาทิ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 58 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณดังกล่าวแล้ว 3 ครั้งความรุนแรง 3-4 และเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แม้จะตรงกับวันครบรอบ 1 ปีของการเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย แต่ก็ไม่มีความเชื่อมโยงกัน
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th