กสอ. เปิดอบรมภายใต้ 4 คอนเซ็ปต์สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยรุกจัดงาน FDC 2015 พร้อมต่อยอดปั้น 200 นักออกแบบสู่วงการแฟชั่นอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 16:00 —สำนักโฆษก

กรุงเทพฯ 28 เมษายน 2558– กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สานต่อโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในกิจกรรมสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นกว่า 200 ราย ด้วยโมเดล FDC2015(Fashion DesignerCreation2015)โดยสร้างรากฐาน (Platform)อุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านแนวคิด“นวัตกรรมแฟชั่น” (Innofashion) ภายใต้แนวทางการออกแบบ (Theme) ทั้ง 4 แนวทางหลัก คือ 1) ทรอปิคอลอาร์ติแซน(Tropical Artisan)2) สนุกสนาน (SnookSnan)3) อินโดจีน (Indochine) และ 4) เจนเดอร์ฟิวเจอร์ริซึ่ม(GenderFuturism)ทั้งนี้เพื่อพัฒนานักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่นให้สามารถตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์และการยอมรับผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนแนวคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นด้วยนวัตกรรมแฟชั่นเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการแฟชั่นให้ได้มาตรฐานสากล ตั้งเป้านำไทยสู่ศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียนในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 อุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกได้สูงกว่า 6.2 แสนล้านบาทก่อให้เกิดการจ้างงานรวมกว่า 2.2 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 1) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.16 แสนล้านบาท2) อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า 5.76 หมื่นล้านบาท 3) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 3.23 แสนล้านบาท (ข้อมูล: สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)มกราคม - ธันวาคม 2557)

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นมาตลอดโดยเฉพาะในปี 2557 ที่ผ่านมากสอ.มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ยกระดับจากการเป็นผู้รับจ้างการผลิตสู่การเป็นผู้ออกแบบสินค้าและสามารถมีตราสินค้า(แบรนด์)เป็นของตัวเอง สำหรับปี 2558 นี้ ได้ขยายแนวทางพัฒนาด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดจนการมุ่งสร้างความจดจำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากลได้ และสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นกระบวนฝึกอบรมภาคทฤษฎีและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)กิจกรรมการสร้างผู้ประกอบการใหม่สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตก้าวทันและสอดคล้องกับแนวโน้มกระแสแฟชั่นโลก (Global Fashion Trend)

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า กสอ. จึงดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สำหรับในปีนี้กสอ. สานต่อโครงการดังกล่าวเพื่อต่อยอดขยายผลความสำเร็จในการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยโดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยโมเดล FDC2015 (FashionDesignerCreation2015)ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐาน(Platform)การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ยุคใหม่ด้วยแนวคิด “นวัตกรรมแฟชั่น”(Innofashion)หรือกระบวนการให้ความรู้ปรึกษาแนะนำ ซึ่งประกอบด้วย1) นวัตกรรมด้านการออกแบบ(Innodesign)2) นวัตกรรมด้านวัสดุ (Innomaterials)3) นวัตกรรมด้านเทคนิคหรือการผลิต (Innotechnics) และ 4) นวัตกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Innoconcept) ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่นหรือเทรนด์สำหรับฤดูกาล สปริง ซัมเมอร์ 2016 (SpringSummer2016)โดยแบ่งออกเป็น 4ธีมหลัก โดยแต่ละธีมจะนำเสนอมุมมองวัตถุดิบใหม่ล่าสุด โดยสอดคล้องกับเทรนด์โลกได้แก่

ทรอปิคอลอาร์ติแซน(Tropical Artisan) การนำเสนอแรงบันดาลใจที่ได้จากความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบที่หลากหลายและแปลกใหม่ผสมกับงานคราฟ์ทำมือ รวมถึงการเติมแต่งด้วยภูมิปัญญาและวัฒนาธรรมของไทย เพื่อตอบสนองอีโคไลฟ์สไตล์ไทย (EcoLifestyle)ของคนยุคปัจจุบัน

สนุกสนาน (Snook Snan) การสะท้อนอุปนิสัยของคนไทยที่สัมผัสได้ถึงความสนุกของสตรีทสไตล์ (StreetStyle)เป็นธีมที่รวบรวมแฟชั่นลำลองที่มาพร้อมกับสีสันที่ฉูดฉาด และลวดลายกราฟฟิกต่างๆ บนตัวผ้า

อินโดจีน (Indochine) การนำเสนอความงดงามของผ้าพื้นบ้านที่คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันหลากหลายของอารยะธรรมชนเผ่าไทยในคาบสมุทรอินโดจีนผ่านงานทอ งานปัก งานตกแต่งลายผ้า เป็นต้น

เจนเดอร์ฟิวเจอร์ริซึ่ม(Gender Futurism) การนำเสนอสังคมไทยที่ด้านหนึ่งยึดติดขนบเดิม แต่อีกด้านหนึ่งเปิดรับความแตกต่างด้วยแนวคิดที่ทันสมัยไปพร้อมๆกันธีมนี้สะท้อนศิลปะการปรับตัวของคนไทยที่มีการปรุงแต่งอย่างซับซ้อนแต่อยู่ในรูปแบบความเรียบง่าย

ทั้งนี้ การนำเสนอธีมต่างๆ จะเน้นการตอบสนองความต้องการ สร้างการรับรู้ ภาพลักษณ์และการยอมรับผ่านการปรับกระบวนการพัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ด้วยนวัตกรรมแฟชั่น สร้างเอกลักษณ์พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานสากล และผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียนในปี 2560 ต่อไป อย่างไรก็ตามกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2558 โดยมีนักออกแบบแฟชั่นสมัครเข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ จำนวนกว่า 200รายและคาดว่าจะสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีศักยภาพแจ้งเกิดในวงการแฟชั่นได้จำนวนไม่น้อยกว่า 60 ราย หรือร้อยละ 30 นายอาทิตย์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110โทรศัพท์ 0 2367 8296 , 0 2367 8290 หรือติดตามโครงการอื่นๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่www.dip.go.thหรือwww.facebook.com/dip.pr

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ