พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดน ณ ห้องเทียน อัชกุล ว่า แนวโน้มในการพิจารณาให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในภาคเกษตรและกิจการต่างๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ชายแดนในลักษณะเช้ามา – เย็นกลับ ตามฤดูกาลเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้และควบคุมได้จริง โดยที่ประชุมเห็นว่าน่าจะมอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการ อาทิ ทหาร ตำรวจ เป็นต้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในพื้นที่ในการพิจารณานำเข้า – ออกแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านในการเข้ามาเก็บผลไม้ตามฤดูการในแต่ละจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินงานทุกขั้นตอนจะต้องปฏิบัติตามที่กำหมายกำหนด
“เนื่องจากประเทศไทยมีจังหวัดที่ทำการเกษตรมาก ทำให้ขาดแรงงานในฤดูจัดเก็บผลไม้ อาทิ จันทบุรี ตราด ระยอง และอีกหลายๆ จังหวัด รวมทั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่ง ณ ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็นกว่า 10 จังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละพื้นที่และเป็นการเช้ามา – เย็นกลับตามฤดูกาล จึงมองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเหมาะสมอ่อนตัว สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความง่าย และลดการกระทำความผิดกฎหมาย และสามารถควบคุมได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานจะจัดทำข้อมูลร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะการกำกับในพื้นที่ชายแดนกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้านสามารถคุมทุกพื้นที่ในจังหวัดได้ ทั้งนี้กรอบการปฏิบัติคาดว่าจะเหมือนกันทุกจังหวัด แต่แตกต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง เช่น รายงานตัวที่ไหน ทำอย่างไร เข้ามาทำงานเดือนไหน เพราะช่วงฤดูการเก็บผลไม้ไม่เหมือนกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนตัวเองได้เพื่อป้องกันการกระทำผิด
สำหรับระยะเวลาการเก็บผลไม้ของจังหวัดที่ทำการเกษตรจะมีเพียง 4 เดือน ได้แก่ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคมของทุกปี
สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2558) มีผู้มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่และขออนุญาตทำงาน เมียนมา จำนวน 135,549 คน เป็นแรงงาน จำนวน 132,137 คน ผู้ติดตาม จำนวน 3,412 คน ลาว จำนวน 37,483 คน เป็นแรงงาน จำนวน 36,491 คน ผู้ติดตาม จำนวน 992 คน และกัมพูชา จำนวน 102,142 คน เป็นแรงงาน จำนวน 99,296 คน ผู้ติดตาม จำนวน 2,846 คน ด้านนายจ้าง มีจำนวน 59,483 ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ฯ จำนวนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 63,175 คน สมุทรสาคร จำนวน 25,408 คน และ สมุทรปราการ จำนวน 15,572 คน
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ที่มา: http://www.thaigov.go.th