นายกรัฐมนตรีพอใจ ไทยพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2015 12:37 —สำนักโฆษก

g          นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้เน้นการปฏิบัติและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทยและอาเซียน

วันนี้ เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังการประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ในการประชุมวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาปรับโครงสร้างของคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน และให้รองนายกรัฐมนตรีด้านต่างๆ เป็นผู้ดูแลในสามเสาหลัก กล่าวคือ เสาการเมืองและความมั่นคง - พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เสาเศรษฐกิจ - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเสาสังคมและวัฒนธรรม - นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานหลัก

ประชาคมการเมืองและความมั่นคง

ในส่วนแรก เป็นการรายงานถึงผลการดำเนินการในด้านการเตรียมความพร้อมของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งไทยได้กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ต่อประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (2558-2564) และมีแผนงาน 5 ปี สำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงของไทย โดยความคืบหน้าเสาการเมืองและความมั่นคง ที่สำคัญ คือ การจัดตั้งศูนย์เพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียน 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะ 2) ศูนย์ ASEAN-NARCO ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 3) ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEANCentre of Military Medicine –ACMM) ที่กระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ มีการเตรียมการใน 5 ประเด็นหลักที่ถือเป็นประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1. เรื่องการบริหารจัดการชายแดน เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบจากากรจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งขณะนี้ สมช. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (2558-2564) โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องนี้และเสนอให้เสาด้านเศรษฐกิจและสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย 2. การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล เพื่อรักษาความปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล 3) การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ภายหลังการรวมตัวเป็นประชาคมซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ ASEAN-NARCOและศูนย์อาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงบทบาทไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ซึ่งกำลังจะหมดวาระใน ก.ค. 58 นี้ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน 5) การเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน เช่น การผลักดันการดำเนินงานของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน การเตรียมความพร้อมด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และการจัดตั้งเครือข่ายการติดต่อสื่อสารด้านความมั่นคงอาเซียน ซึ่งในเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้บรรจุเรื่อง การเข้าถึงน้ำสะอาดของประชาชน และการขจัดหมอกควัน เข้ามาเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งเพิ่มเติมว่า เสาการเมืองเป็นเสาหลักของทุกส่วน เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคโดยรวม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีประสงค์ให้เพิ่มเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญอย่างมากในประเด็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติด้วย ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งในที่ประชุมว่า ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ และจะไปนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ณ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงปลายปีนี้ ต่อไป

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับการเตรียมความพร้อมประเทศไทยของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยได้ดำเนินการตาม AEC blueprint จากทั้งหมด 611 มาตรการ ซึ่งต่อมาถูกลดลงเหลือ 540 มาตรการ โดยไทยมีความคืบหน้าประมาณร้อยละ 80 เป็นลำดับสองรองจากสิงคโปร์

สำหรับความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ การเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาต่างๆ คลังข้อมูลทางการค้าของไทย (NTR) ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพบัญชี สถาปนิก และวิศวกร แผนยุทธศาสตร์ด้าน SME และทรัพย์สินทางปัญญา การปรับประสานมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจน การจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2558 เช่น การลงนามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการ ชุดที่ 10 การให้สัตยาบันข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ชุดที่ 6 ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (NSW) การจัดทำ ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง เป็นต้น

โดยในที่ประชุมได้รับทราบถึงการรองรับและการใช้ประโยชน์จาก AEC ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านกฎหมาย ด้านสินค้าและบริการ ด้านผู้ประกอบการ และด้านบุคลากร สำหรับแผนงานของไทยเพื่อรองรับสำหรับการเปิดเสรีการค้าบริการ ประกอบไปด้วย 1) ICT Cluster ซึ่งเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจของไทย 2) การขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของการประกอบธุรกิจและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ 3) การก่อสร้าง 4) การเงินและการประกันภัย และ 5) การศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ไทยมีแผนที่จะเป็นชาติแห่งความเชื่อมโยง (Integrated Nation) ทั้งด้านการขนส่ง การสื่อสารและพลังงาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบก การเชื่อมโยงทางกายภาพและกฎระเบียบ ตลอดจน การนำเศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy) เข้ามาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับ AEC ของไทย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ 10 ปีเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดผลสัมฤทธิ์ในระยะ 5 ปี และ 10 ปี ต่อไป โดยขอให้มีการกำหนดเรื่องการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย (how) ตลอดจน กรอบเวลาและการประเมินผลที่ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญ ที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุม คือ ประชาชนทั้งประเทศต้องรู้ว่า เขาจะใช้ประโยชน์จาก AEC ได้อย่างไร ทั้งภาคเกษตร SMEs ซึ่งรวมถึงเรื่องการเข้าถึงทุน ด้วย

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

สำหรับการเตรียมของพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 17 กระทรวงและ 23 หน่วยงาน นั้น ปัจจุบันไทยดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 97% จากทั้งหมด 339 มาตรการ โดยมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว อาทิ มาตรการคุ้มครองทางสังคมว่าด้วย เด็ก สตรี คนชรา ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ อย่างไรก็ดี มาตรการที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิ การสร้างเครือข่ายของห้องปฏิบัติการด้านอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการสนับสนุนผู้ผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น

สำหรับประเด็นเร่งด่วนสำคัญ ที่มีการหยิบยกในที่ประชุม ได้แก่ ผลกระทบเชิงลบที่มาจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาแรงงาน สวัสดิการสังคม และปัญหาชายแดน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การพัฒนาด้านบุคลากรและการศึกษา ไม่เน้นเพียงแต่ด้านภาษาอังกฤษ แต่ต้องพัฒนาอย่างครอบคลุมในหลายสาขา นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียน ไทยควรกำหนดจุดแข็งให้ชัดเจนเพื่อพร้อมต่อยอดประโยชน์จากการรวมตัวกัน อาทิ เรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทย

นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย โดยแบ่งเป็น 1) กฎหมายอนุวัติการตามพันธกรณี ซึ่งประกอบไปด้วย พรบ. จำนวน 4 ฉบับและ กฎหมายลำดับรองอีก 4 ฉบับ 2) กฎหมายเตรียมความพร้อม ซึ่งประกอบไปด้วย พรบ. 19 ฉบับ และกฎหมายลำดับรองอีก 12 ฉบับ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าของ พรบ.คุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พรบ.การเดินอากาศฯ และ พรบ.เครื่องหมายการค้า

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการทั้ง 3 เสา ไปศึกษาวิกฤตและโอกาสของแต่ละเสา ความได้เปรียบเสียเปรียบของประเทศไทย และจัดทำมาตรการรองรับความเสี่ยงต่างๆ พร้อมทั้งสั่งการให้เพิ่มเรื่องการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม (how to) ในแต่ละเสา โดยขอให้เน้นความร่วมมือระหว่างกันในอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาและความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ข้าว ยางและปาล์มอีกทั้งได้ขอให้ทุกหน่วยงานต่างๆ เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ เป็นเป้าหมายหลักด้วย

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ