ในโอกาสนี้ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายด้านการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และได้กำหนดให้มีการปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางกฎหมาย และค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่ายและรวดเร็ว มีความเสมอภาค และมีการส่งเสริมกองทุนยุติธรรม เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส คุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และเยียวยาผู้บริสุทธิ์หรือได้รับผลกระทบ และการไม่แอบอ้างฉวยโอกาสโดยทุจริตจากระบบการช่วยเหลือดังกล่าว ประกอบกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะของประชาชน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วม เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่มีกลไก/โครงสร้าง/ภารกิจหน้าที่ ครอบคลุมพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ทั่วประเทศ และเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับ กระทรวงยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานและประสานความร่วมมือกัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างบรรลุเป้าหมาย และในวันนี้ (6 พ.ค. 58) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม จึงได้ร่วมกันจัดประชุมชี้แจงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความเป็นธรรมผ่านกองทุนยุติธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงานมีความเข้าใจในภารกิจดังกล่าว และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจตามที่ได้มีการ MOU เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และเสมอภาค โดยที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัด โดยจัดระบบการรับเรื่อง/รับคำร้อง การขอความช่วยเหลือและการส่งต่อเรื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมทั้งได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการนายอำเภอและปลัดอำเภอเพื่อเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และวิธีการปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชนแก่กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 76 จังหวัด
ในส่วนของ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึง ความสำคัญและความเป็นมาของกองทุนยุติธรรม รวมถึงการกระจายอำนาจกองทุนยุติธรรมในระดับจังหวัด โดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้นในปี พ.ศ.2549 เพื่อให้การสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย การฟ้องร้องดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงผู้ที่กระทำการใดๆ เพื่อปกป้อง คุ้มครอง หรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งกองทุนยุติธรรมเมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำขอรับการสนับสนุน จำนวน 15,156 ราย ดำเนินการแล้วเสร็จ 14,497 ราย และจ่ายเป็นเงินให้ความช่วยเหลือแล้ว เป็นเงิน 347,171,198.77 บาท โดยจ่ายเงินค่าประกันตัวมากที่สุด ถึงร้อยละ 96.90 รองลงมาเป็นค่าทนายความ ร้อยละ 6.84
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระจายอำนาจกองทุนยุติธรรมในระดับจังหวัดที่ผ่านมา ไม่สามารถรองรับการดำเนินงานให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของประชาชนและเป็นการสนับสนุนความร่วมมือ (MOU) “อำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมจึงมีมติอนุมัติให้มีการกระจายอำนาจการพิจารณาคำขอรับการสนับสนุนกองทุนยุติธรรมครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด โดยมีกลไกลสำคัญคือ 1.ยุติธรรมจังหวัด 2.คณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมประจำจังหวัด โดยทั้งสองกลไกจะให้อำนาจการอนุมัติไม่เกิน 5 แสนบาทต่อรายในทุกกรณี และเป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ ประกาศที่คณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมกำหนด นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในอีกหลายๆ เรื่องที่ทั้ง 2 หน่วยงาน จะต้องร่วมกันส่งเสริมสนับสนุน และประสานความร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และการพัฒนากฎหมายของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรม โดยบุคลากรหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น จะได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในเชิงบูรณาการร่วมกัน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th