วันนี้ (7 พฤษภาคม 2558) ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปส่งและให้กำลังใจทีมแพทย์ไทย ชุดที่ 2 ไปประเทศเนปาลเพื่อผลัดเปลี่ยนกับทีมแพทย์ไทยชุดแรกที่ตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ที่ ต.ซิปปะกัต อ.สินธุปาลโชค ด้วยสายการบินไทย TG 319 มีทั้งหมด 24 คน เป็นทีมสหสาขาวิชาชีพมาจากมูลนิธิร่วมกตัญญู ป่อเต๊กตึ๊ง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตที่ 7 จ.อุบลราชธานี และจากรพ.ภูมิภาคในจังหวัดสุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สมุทรปราการ และลำพูน โดยเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 4 คน ศัลยแพทย์ 1 คน จิตแพทย์ 1 คน แพทย์ระบาดวิทยา 2 คน พยาบาล 7 คน เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน 6 คน และนักวิชาการสาธารณสุข 3 คน โดยมีนายแพทย์ศรายุทธ อุตตามางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมป้องกันโรค จ.อุบลราชธานี เป็นหัวหน้าทีม ทุกคนได้เตรียมพร้อมในการดูแลผู้ประสบภัยชาวเนปาลอย่างเต็มที่และจะอยู่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสนาม ต.ซิปปะกัต 2สัปดาห์
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในการเดินทางของทีมแพทย์ชุดที่ 2 นี้ ได้เตรียมอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาผู้ป่วยไปด้วย อาทิ เปลขนย้ายผู้ป่วย เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องปั่นไฟสำรอง เครื่องกรองน้ำ ผงทำน้ำดื่ม 120,000 ซอง ซึ่งได้รับประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ยาน้ำและเวชภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็ก เช่น ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ รองเท้าบู๊ท 140 คู่รวมทั้งเตรียมเครื่องกีฬา ไปทำกิจกรรมสันทนาการผ่อนคลายความเครียดให้แก่เด็กและประชาชนในพื้นที่ โดยเมื่อถึงที่สนามบินตรีภูวัน ทีมแพทย์จะเดินทางไปที่โรงพยาบาลสนามฯ และรับมอบงานจากทีมชุดที่ 1 จากนั้นเริ่มปฏิบัติงานตามแผนทันทีและทีมแพทย์ชุดที่ 1ทั้ง 19 คนจะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้
สำหรับผลการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยประสบภัย ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ถึง 6 พฤษภาคม 2558 ยอดสะสมรวม 1,026 ราย ส่วนใหญ่มีบาดแผล แผลอักเสบ ติดเชื้อ ป่วยเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ในการปฏิบัติงานของทีมชุดที่ 2 จะยังคงภารกิจการตรวจรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉิน เช่น ติดเชื้อกระแสโลหิต ช็อก น้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น ภารกิจที่ 2 คือ การเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการเชิงรุกเข้าไปในชุมชนให้ได้มากที่สุด และครอบคุลมประชาชนทุกหลังคาเรือน โดยจะให้บริการฟื้นฟูสุขภาพจิต เน้นการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว ทรัพย์สิน ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเดิม เช่น มีอาการทางจิตอยู่เดิม เป็นโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ผู้พิการ โดยใช้แบบตรวจคัดกรองความเครียดของไทยที่แปลเป็นภาษาเนปาลแล้ว และการป้องกันการเกิดโรคระบาดที่สำคัญที่มีโอกาสพบได้หลังเกิดภัยพิบัติ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด เป็นต้น แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่พบก็ตาม ทั้งนี้จะต้องปรับปรุงสภาพแหล่งน้ำกินน้ำใช้ให้สะอาด ปลอดภัย และมีส้วมใช้อย่างเพียงพอ และถูกหลักอนามัย โดยวอร์รูมฯ กระทรวงสาธารณสุข จะประสานข้อมูลกับทีมแพทย์ไทยทุกวัน เพื่อจัดส่งสิ่งสนับสนุนตามความต้องการอย่างเต็มที่
7 พฤษภาคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th