ปพม. เป็นผู้แทนร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี COMMIT ครั้งที่ ๔ ที่ราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมลงนามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรี ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ ๓

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2015 16:24 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ ๑ พ.ค. ๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ ตามที่ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอมอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส COMMIT ครั้งที่ ๑๐ ระหว่าง วันที่ ๒๘ – ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ และการประชุมระดับรัฐมนตรี COMMIT ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘ ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นประเทศเจ้าภาพ การประชุมดังกล่าวมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑) และปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ ๓ (The Third Joint Declaration of the Coordinated Mekong Ministerial Initiative against Human Trafficking) อีกทั้งมีการกำหนดให้รัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และจีน ลงนามในปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าว ซึ่งตนได้ลงนามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ ๓ เรียบร้อยแล้ว ปฏิญญาฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ระหว่างประเทศสมาชิกว่า จะดำเนินการร่วมกันต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ และยืนยันในความมุ่งมั่นที่มีต่อบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า แผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๑) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบันทึกความเข้าใจ COMMIT ตาม ๕ ยุทธศาสตร์ในแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคฯ ได้แก่ ๑) นโยบายและความร่วมมือ ๒) กรอบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ๓) การคุ้มครองช่วยเหลือและการส่งกลับ ๔) มาตรการป้องกันและการลดความเสี่ยง และ ๕) การติดตามประเมินผลและระบบฐานข้อมูลการค้ามนุษย์ ซึ่งโครงการหรือกิจกรรมที่ระบุไว้ในแต่ละยุทธศาสตร์ จะประกอบด้วยกิจกรรมในระดับอนุภูมิภาคและประเทศ

“การประชุมครั้งนี้ประจวบเหมาะกับโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของ COMMIT จึงได้รับเกียรติจาก Mr. Sar Kheng รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของราชอาณาจักรกัมพูชา มาเป็นประธานงานเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ของ COMMIT อีกด้วย” นายวิเชียร กล่าวท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th