พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาขอทาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดระเบียบเกี่ยวกับคนขอทานให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาขอทานแบบยั่งยืน ตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ และจากการดำเนินการจัดระเบียบการขอทานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้รับทราบข้อมูลว่า สาเหตุสำคัญของการขอทานมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และทัศนคติเกี่ยวกับการขอทาน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงสนับสนุนให้มีการดำเนินการให้ผู้ใช้บริการในหน่วยงาน ทั้งที่มาจากกระบวนการจัดระเบียบการขอทาน และผู้ประสบภาวะยากลำบาก ได้รับการฟื้นฟู พัฒนา และส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยการฝึกทักษะทางอาชีพ และมีระบบการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ยั่งยืน และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการดำเนินงานในรูปแบบนี้ จะสามารถสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการขอทาน และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดทักษะทางอาชีพ และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมภายหลังสิ้นสุดกระบวนการฟื้นฟู และไม่กลับมาขอทานซ้ำ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจเยี่ยมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ตนได้ให้คำแนะนำแก่บุคลากร ของหน่วยงานในการฝึกอาชีพผู้ใช้บริการด้านเกษตรกรรม ให้มีการดำเนินการต่อยอดอย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม และเป็นระบบมากขึ้น โดยประสานภาคีเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพผู้ใช้บริการ มีรูปแบบการดำเนินการที่เป็นระบบ มีความชัดเจน และสามารถเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ในด้านการฟื้นฟูพัฒนาผู้ใช้บริการให้สามารถพึ่งตนเองได้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ประกอบกับในปี พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นปีครบรอบมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี กระทรวงฯ จึงได้ประยุกต์รูปแบบของโครงการพระราชดำริโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการเพื่อฟื้นฟู พัฒนา ตลอดจนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ใช้บริการ โดยฝึกให้ผู้ใช้บริการในหน่วยงาน จำนวน ๑๒๖ คน เป็นชาย ๑๐๑ คน และหญิง ๒๕ คน ทำกิจกรรมด้านการเกษตร ทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา สุกร เป็ด และไก่ เพื่อนำมาประกอบอาหาร และนำผลผลิตที่เหลือมาจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับผู้ใช้บริการที่เข้าร่วมกิจกรรม
"ทั้งนี้ ได้มีการบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เช่น นิคมสร้างตนเอง กองกิจการนิคมสร้างตนเองและการพัฒนาชาวเขา และภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด และเกษตรจังหวัด เป็นต้น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และจัดตั้ง "กองทุนเพื่อพัฒนาคนไร้ที่พึ่ง และคนขอทาน”เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวต่อไป”พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th