รมว.แรงงาน ติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน ย้ำรัฐบาลทำต่อทุกข้อบนระเบียบและเหตุผล

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2015 16:27 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานเดินหน้าข้อเรียกร้องวันแรงงาน ดึงกลุ่มลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ ผู้พิการ สหภาพ นายจ้าง นักวิชาการ คสรท. ข้าราชการ ร่วมเป็นกรรมการ เผยคืบหน้าปรับโครงสร้างใหม่ตั้งกรมความปลอดภัยแรงงานทำได้ทันที รวมกองทุนประกันความเสี่ยง กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นเรื่องเดียวกัน กำชับ สปส.ศึกษาข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องเสนอคณะทำงาน ทำได้ – ไม่ได้ พร้อมระบุเหตุผล ด้านอนุสัญญา 87,98 กำลังศึกษาเพิ่ม ย้ำพี่น้องแรงงานสบายใจได้ รัฐบาลทำต่อทุกเรื่อง ภายใต้ระเบียบและเหตุผล

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี ๒๕๕๘ เพื่อติดตามและเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า ความคืบหน้าของข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานข้อ 11 เสร็จแล้ว ซึ่งจะให้ผู้เรียกร้องทุกกลุ่มเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วย อาทิ กลุ่มลูกจ้างทั้งหมด แรงงานนอกระบบ แรงงานผู้พิการ คสรท. และกลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนายจ้างที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มนักวิชาการที่มีความรู้ในโลกกว้างจะมาเป็นกรรมการด้วย และข้าราชการของกระทรวงแรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ติดตามข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อ โดยมีนางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงานนั้น เรื่องนี้เป็นการจัดโครงสร้างของกระทรวงแรงงานเองสามารถดำเนินการได้เลย ส่วนเรื่องที่มีการตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน และให้ตราพระราชกฤษฎีกาการจัดเก็บเงินสะสมเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้น จากการศึกษาวันนี้คาดว่าทั้งสองเรื่องน่าจะรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะที่การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมไปศึกษาตามข้อเรียกร้องทั้งหมด เพื่อนำผลการศึกษาเสนอต่อคณะทำงานว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร สำหรับการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นั้นเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กับการแก้ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์กับร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งขณะนี้กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่เพื่อนำไปปรับแก้ ส่วนเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารับฟังความคิดเห็นและปรับแก้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

" เหตุที่ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเนื่องจากนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อพี่น้องแรงงานที่ได้เรียกร้องให้ดำเนินการต่อ ผมในฐานะรัฐมนตรีแรงงานซึ่งได้รับมอบหมาย ก็เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และให้คณะทำงานมีการประชุมติดตามทุกเดือนเพื่อให้มีความก้าวหน้า โดยรวมแล้วทำทุกข้อ แต่ผู้ใช้แรงงานก็ต้องดูว่าสิ่งที่เรียกร้องมา ถ้ามีระเบียบอยู่ ทำได้ทำเลย แต่ถ้าระเบียบไม่อำนวย ก็ต้องแก้ระเบียบ แต่ถ้าสิ่งที่เรียกร้องมาต้องศึกษาก็ต้องมีการศึกษากันต่อไป ต้องบอกพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลรับแล้วทำต่อ

ทุกเรื่อง แต่จะได้ตามที่ร้องขอหรือไม่เป็นเรื่องของเหตุผล"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/

กระทรวงแรงงาน ตอบโจทย์ “คนไทยมีงานทำ ทักษะดี เงินดี มีสุข”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ