วันนี้ (8 พฤษภาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ริชชาร์ด บราวน์(Dr. Richard Brown)ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว การรณรงค์ให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด – หัดเยอรมัน แก่เด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน – 7 ปี และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี 2558 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ผู้ที่เสี่ยงต่อการป่วยและมีอาการรุนแรงหลังติดเชื้อ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค 2 ชนิด ให้ประชาชน เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงอันตรายหลังติดเชื้อ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เนื่องจากขณะนี้ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พบโรคนี้สูงที่สุด และโรคนี้ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม ตั้งเป้าฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 8 กลุ่มจำนวน 3.4 ล้านโด๊สฟรีทุกสิทธิการรักษา ประกอบด้วย 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีทุกคน 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว 7 โรคได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอ ไตวาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และโรคเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 7.โรคอ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป และ8.บุคลากรทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทำลายสัตว์ปีก โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนวัคซีนฉีดให้ประชาชน 3 ล้านโด๊ส ส่วนกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขกรมควบคุมโรคจัดซื้อ 4 แสนโด๊ส
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกาศฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งควรเข้ารับการฉีด เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและลดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนได้ ผลการวิจัยพบว่าหญิงมีครรภ์ ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการป่วยรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า ในปี 2557 ประชาชน 2 กลุ่มนี้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเพียงร้อยละ 1 ซึ่งต่ำกว่าทุกกลุ่ม วัคซีนที่ฉีดในปีนี้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ที่พบมากในไทยและทั่วโลก โดยเริ่มฉีดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2558 ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
วัคซีนชนิดที่ 2 ได้แก่วัคซีนป้องกันโรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นวัคซีนรวมในเข็มเดียวกัน สำหรับเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน – 7 ปี และยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเข็มที่ 2 ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยพบได้ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคหัด เนื่องจากระดับภูมิต้านทานในร่างกายไม่เพียงพอ หลังจากที่เคยรับวัคซีนเข็มแรกในช่วงอายุ 9 เดือน ถึง 1 ขวบ ขณะนี้เด็กไทยมีอัตราครอบคลุมวัคซีนป้องกันโรคหัดสูงกว่าร้อยละ 96 จำนวนผู้ป่วยจึงลดลงมากปีละไม่ถึง 2,000 ราย ไม่มีเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ารณรงค์กำจัดโรคหัดให้เหลือไม่เกิน 1 ต่อประชากรล้านคนหรือประมาณ 66 ราย ภายในพ.ศ.2563 ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก และจัดทำเป็นโครงการถวายแด่องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558 โดยฉีดให้เด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึง วันที่ 31 มกราคม 2555 ฟรี ตั้งแต่พฤษภาคม - กันยายน 2558 ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 เมษายน 2558 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมทั่วประเทศ 24,797 ราย เสียชีวิต 20 ราย จำนวนผู้ป่วยในรอบ 4 เดือน มีประมาณ 1ใน3 ของผู้ป่วยตลอดปี 2557 ที่มีสะสมทั้งหมด 74,065 ราย เสียชีวิต 86 ราย ภายหลังจากประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่พ.ศ.2551 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ หากประเทศไทยไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน จะพบผู้ป่วยทั้งประเทศปีละ 700,000 – 900,000 ราย และมีผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมร้อยละ 2.5 ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลปีละ 12,575 – 75,801 ราย ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 913 – 2,453 ล้านบาทต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในการรักษาพยาบาล
สำหรับสถานการณ์โรคหัดและหัดเยอรมัน ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2558 มีรายงานผู้ป่วยโรคหัด 255 ราย หัดเยอรมัน 41 ราย ส่วนในปี 2557 พบผู้ป่วยโรคหัด 1,184 ราย หัดเยอรมัน 152 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตทั้ง 2 โรค อันตรายของโรคหัดเยอรมัน หากเป็นในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ปัญญาอ่อน ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ ซึ่งอาจเกิดร่วมกัน หรือเกิดเพียงอย่างเดียวก็ได้
8 พฤษภาคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th