แถลงข่าว ผลการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2015 11:36 —สำนักโฆษก

จังหวัดชลบุรี - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ แถลงข่าวผลการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือการประชุมสภาซีเมค (Southeast Asian Ministers of Education Council Conference : SEAMEC) ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรม Royal Cliff Grand เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 48 สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ต่างพอใจในการจัดการประชุม โดยเฉพาะบรรยากาศในระหว่างการประชุมที่ค่อนข้างเป็นกันเอง และมีการเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยสรุปผลการประชุมในวาระต่างๆ ได้ ดังนี้

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 เป็นการประชุมวาระเฉพาะ (In-Camera Session) สำหรับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสมาชิกซีมีโอในการรับรองเรื่องสำคัญๆ เช่น งบประมาณการดำเนินงานของซีมีโอ แผนพัฒนาของศูนย์ระดับภูมิภาคของซีมีโอ องค์ประกอบคณะกรรมการบริหารของซีมีโอ ปี 2558-2559 (ประกอบด้วยไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) รวมถึงความร่วมมือระหว่างองค์การซีมีโอและสถาบันการพัฒนาการศึกษาของเกาหลี (KEDI) ซึ่งจะมีการลงนามในโอกาสต่อไป

ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เป็นการประชุมเต็มคณะ (Plenary Sessions) เริ่มต้นด้วยการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมคต่อจากศาสตราจารย์ ดร.ฟาม วู ลุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมของเวียดนาม ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติเลือก รมว.ศึกษาธิการไทยให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมคคนต่อไป และมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียดำรงตำแหน่งรองประธานสภาซีเมค โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี

ที่ประชุมได้พิจารณาวาระอื่นๆ ด้วย เช่น การให้ความเห็นชอบงบประมาณการดำเนินงานของซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคฯ รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ที่จะดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย การรับองค์กร China Education Association for International Exchange (CEAIE) เข้าเป็นหน่วยงานสมทบแห่งใหม่ของซีมีโอ รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ SEAMEO College ซึ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาในทุกระดับ การพัฒนาปรับปรุงการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกซีมีโอ การดำเนินงานพัฒนาตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับรัฐมนตรีศึกษาของซีมีโอ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะขององค์การซีมีโอ การดำเนินกิจกรรมระดับภูมิภาคเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งองค์การซีมีโอ การดำเนินความร่วมมือระหว่างซีมีโอ ยูเนสโก และยูนิเซฟ ในโครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและสันติวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการประชุมเชิงนโยบาย (Policy Forum) ในหัวข้อ “Digital Learning for Creating Future Global Citizens” มีนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นองค์ปาฐก ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการจัดการเรียนรู้ดิจิตอลเพื่อสร้างพลเมืองโลกในอนาคตด้วยการนำเสนอข้อเปรียบเทียบระหว่างการเรียนรู้ผ่านตำราเรียนและการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน มีการยกตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทยโดยการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อให้นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการศึกษา ซึ่งมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงนโยบายและเสนอแนวคิด มุมมองในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยที่ประชุมเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่จะใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ครูยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการนำนักเรียนสู่การเรียนรู้ จึงควรพัฒนาครูให้ทันสมัย

ในช่วงเช้าของวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 เป็นการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Round-table Meeting) ในหัวข้อ “SEAMEO in the Next Decade” หรือการดำเนินงานขององค์การซีมีโอในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและแนวทางจากทุกประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผ่านมา และการดำเนินงานในอนาคตเพื่อให้องค์การมีความเจริญรุ่งเรือง และทำให้ความร่วมมือด้านการศึกษาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบความสำเร็จ ซึ่งรัฐมนตรีศึกษาของทุกประเทศได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งข้อเสนอแนะใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1) การใช้ประโยชน์จากศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน กระจายอยู่ในแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค

2) การเชื่อมโยง 7 ประเด็นระดับภูมิภาคไปสู่การให้การศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ

3) การสนับสนุนการพัฒนาครูและการสร้างมาตรฐานสมรรถนะของครู โดยใช้เวทีการพระราชทานรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เนื่องในโอกาสวันครูโลก เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

4) การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนด้านความรู้และทักษะฝีมือในทุกระดับ

5) การส่งเสริมบทบาทสถาบันครอบครัวในการจัดการศึกษา (Partnering Parental Education)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคด้วยการเชื่อมโยงเป้าหมายการทำงานร่วมกันระหว่างซีมีโอ อาเซียน และวาระการศึกษาเพื่อปวงชนภายหลังปี 2558 และได้เสนอให้มีการทบทวนการทำงานขององค์การซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคฯ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งขององค์การซีมีโอให้เป็นที่รู้จัก ทั้งในภูมิภาคและภูมิภาคอื่นด้วย

จากการรับฟังข้อคิดเห็นของประเทศสมาชิก จะเห็นได้ว่าปัญหาด้านการศึกษาของแต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาเกี่ยวกับครูที่จำเป็นต้องมีการพัฒนา ทั้งนี้ทุกประเทศให้ความสนใจและมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจุบันการอาชีวศึกษามีความจำเป็น และจะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาสามารถทำงานได้

อนึ่ง ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประชุมหารือทวิภาคี (Bilateral Meeting) ระหว่าง รมว. ศึกษาธิการไทยกับรัฐมนตรีศึกษาจาก 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว สิงคโปร์ และติมอร์ เลสเต เมื่อวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2558 โดยเป็นการหารือถึงปัญหาด้านการศึกษาของแต่ละประเทศ ซึ่งทุกประเทศมีความเห็นว่าประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในการจัดการอาชีวศึกษา จึงต้องการศึกษาเรียนรู้จากไทย และขอให้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคเอกชน สำหรับรัฐมนตรีศึกษาของมาเลเซียต้องการศึกษาแนวทางปฏิบัติจากไทยในการจัดการอุดมศึกษาทีอยู่ในกำกับของรัฐ จะเห็นได้ว่าบางประเทศประสบปัญหาด้านการศึกษามากบ้างน้อยบ้าง ดังนั้นประเทศสมาชิกซีมีโอควรจะร่วมมือกันในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการดำเนินงานภายหลังจากที่รับตำแหน่งประธานสภาซีเมค ว่า ต้องศึกษาการดำเนินงานในปัจจุบันขององค์การซีมีโอ ทั้งของสำนักงานเลขาธิการซีมีโอและศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ที่กระจายอยู่ใน 11 ประเทศสมาชิก และสานต่อการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จากที่ได้รับฟังข้อคิดเห็นของผู้แทนประเทศสมาชิกในระหว่างการประชุมครั้งนี้ พบว่าปัญหาด้านการศึกษาของหลายประเทศมีความคล้ายคลึงกับปัญหาของไทย ซึ่งก็ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและกระจายไปถึงประเทศสมาชิกซีมีโอด้วย รวมถึงการศึกษากิจกรรมของศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ว่าปัญหาหรืออุปสรรคหรือไม่ เพราะการดำเนินงานของศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศที่ศูนย์ตั้งอยู่เท่านั้น แต่เครือข่ายงานของแต่ละศูนย์จะต้องกระจายไปยังประเทศสมาชิกซีมีโออื่นด้วย หากพบว่ามีปัญหาก็ต้องช่วยกันแก้ไข

ดังนั้น ในช่วงเวลา 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค จะพยายามผลักดันทุกเรื่อง รวมทั้งกิจกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคของซีมีโอทั้ง 21 แห่งโดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการซีมีโอเป็นผู้จัดช่วงเวลาและกำหนดการในการเยี่ยมชม เพื่อรับทราบและผลักดันการดำเนินงานของศูนย์และเครือข่ายระดับภูมิภาคฯ

สำหรับการประชุมสภาซีเมค ครั้งที่ 49 สาธารณรัฐอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งจะมีการแจ้งสถานที่จัดประชุมให้ทราบในโอกาสต่อไป

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

สถาพร ถาวรสุข : ถ่ายภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ