พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)จัดตั้ง สถานธนานุเคราะห์ หรือ โรงรับจำนำของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า ซึ่งมีเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ ด้วยการนำทรัพย์สินมาจำนำแล้วเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำ โดยการตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยรับจำนำ เพื่อไม่ให้โรงรับจำนำเอกชนเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากประชาชนผู้ใช้บริการเกินอัตราที่กฎหมาย (พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ) ภายใต้วิสัยทัศน์ (vision) "เป็นสถาบันจำนำของรัฐบาล ด้วยบริการที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็วและยึดหลักธรรมาภิบาล”ปัจจุบัน สำนักงานธนานุเคราะห์มีสาขาทั้งสิ้น ๓๔ แห่ง โดยตั้งอยู่ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน ๒๙ แห่ง และปริมณฑล ๔ แห่ง รวมทั้งส่วนภูมิภาคที่จังหวัดระยอง ๑ แห่ง นอกจากนี้ สำนักงานธนานุเคราะห์ ได้ทำแผนขยายสาขาในส่วนภูมิภาค และย้ายสาขาเพื่อให้ประชาชน เข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ หรือสถาบันการเงินอื่นที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยในเกณฑ์ค่อนข้างสูง โดยสถานธนานุเคราะห์มีการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ ยังได้มีการปรับภาพลักษณ์ในการให้บริการใหม่ ตั้งแต่ภาพลักษณ์ภายนอก มีการปรับปรุงสถานที่ให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นความคล้ายคลึงกับสถาบันการเงิน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้บริการ เช่น เครื่องสแกนลายนิ้วมือ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ มีความสะดวก รวดเร็ว และมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้บริการ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายคืนความสุขให้แก่ประชาชน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานธนานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงรับจำนำของรัฐบาล ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระผู้ปกครองในช่วงก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะใช้บริการโรงรับจำนำเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครอง สำนักงานธนานุเคราะห์ จึงได้มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยรับจำนำไว้ที่ระดับเดิมไปจนถึงเดือน มิถุนายน ๒๕๕๘ คือ เงินต้น ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ย ๒๕ สตางค์ต่อเดือน , เงินต้น ๕,๐๐๑–๑๐,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ย ๗๕ สตางค์ต่อเดือน , เงินต้น ๑๐,๐๐๑–๒๐,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ย ๑ บาทต่อเดือน และเงินต้น ๒๑,๐๐๑ บาทขึ้นไป คิดดอกเบี้ย ๑.๒๕ บาทต่อเดือน
"ทั้งนี้ ในช่วงเปิดภาคการศึกษา สำนักงานธนานุเคราะห์ได้สำรองสภาพคล่องเพิ่มอีก ๕๐๐ ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของประชาชน โดยเฉพาะเป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่”พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th