ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเชิญให้กล่าวบรรยายพิเศษต่อที่ประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 18 หรือ CSTD (Commission on Science and Technology for Development) ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ถึงความสำเร็จและความท้าทายในการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประเทศด้วย วทน. ยกโครงการมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ แก่โรงเรียนกว่า 300 โรงเรียน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศเป็นหนึ่งในตัวอย่างโครงการปฏิรูปประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหันมาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก CSTD 43 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
โอกาสเดียวกันนี้ ยังได้เข้าพบเลขาธิการ องค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD นายมุคิซา คิตูยิ โดยกล่าวขอบคุณ UNCTAD ที่ได้ช่วยนำประสบการณ์จากการจัดทำ Science Technology Innovation Policy Review มาทำการศึกษาทบทวนนโยบาย วทน. ของประเทศไทยจนสำเร็จ ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย ในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจและพัฒนาสังคม ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกับความสำคัญของการนำเอาผลการวิเคราะห์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง โดย รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ของไทยได้ให้การยืนยันถึงบทบาทของไทยในเวทีสากล และยินดีร่วมมือกับสหประชาชาติในการขยายผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในเบื้องต้นนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงด้าน วทน.ของอาเซียนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเทศไทยในการประชุม ASEAN COST ปลายพฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต
รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 สดร. ได้รับการสนับสนุนและผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่จากท่านรัฐมนตรีฯ ตามนโยบายที่ต้องการให้ประชาชนทุกพื้นที่ในประเทศไทยได้เข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งเป้าให้เข้าถึงครู นักเรียน และประชาชนกว่าแสนคน หวังใช้ดาราศาสตร์จุดประกายให้นักเรียนหันมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น หลังจากดำเนินโครงการไปได้ระยะหนึ่งพบว่ามีผลตอบรับที่ดีมากจากโรงเรียนและครู สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างล้นหลาม และหลังจากมอบกล้องโทรทรรศน์พร้อมจัดอบรมไปแล้วหนึ่งครั้ง มีการต่อยอดขยายผลการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ออกไปอย่างต่อเนื่องทั้งกิจกรรมภายในโรงเรียนและกิจกรรมดาราศาสตร์ในชุมชนอีกด้วย นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
กล้องโทรทรรศน์ที่นำมามอบให้แก่โรงเรียนในโครงการฯ นี้ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ออกแบบ พัฒนา โดยทีมนักวิชาการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และผลิตในประเทศไทย มีต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับกล้องโทรทรรศน์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ประกอบด้วย ร่มลายแผนที่ดาว โปสเตอร์ชุดความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะ หนังสือความรู้ดาราศาสตร์ โมเดลดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เราได้คัดเลือกโรงเรียนจากทั่วประเทศเพื่อรับมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ชุดใหญ่ สำหรับนำไปใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน และสังเกตการณ์ท้องฟ้า ณ โรงเรียนของตน ทั้งยังเผื่อแผ่ไปถึงชุมชนรอบข้างได้อีกด้วย กำหนดให้มีพิธีมอบฯ และฝึกอบรมฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4-6 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา จำนวน 35 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด ครั้งที่ 2 กำหนดมอบประมาณเดือนสิงหาคม 2558 จำนวน 25 โรงเรียน 21 จังหวัด เป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้คือ 60 โรงเรียน ใน 36 จังหวัด และจะคัดเลือกต่อเนื่อง ให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2561
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524
E-mail: pr@narit.or.th Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th