อธิบดีกรมการบินพลเรือนพร้อมผู้แทนร่วมประชุมหารือข้อราชการ กับสำนักงานการบินแห่งชาติสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ข่าวทั่วไป Tuesday May 12, 2015 09:47 —สำนักโฆษก

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม เดินทางไปเมือง Braunschweig สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อพบปะกับผู้แทนสำนักงานการบินแห่งชาติสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Luftfahrt - Bundesamt : LBA) ในระหว่างวันที่ 22 – 26 เมษายน 2558 กรณีผลการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Programme : USOAP) ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19 – 30 มกราคม 2558 ซึ่งพบว่าไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern : SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ

สำหรับการประชุมหารือฯ ในครั้งนี้ มีเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน (นางนงนุช เพ็ชรรัตน์) เข้าร่วมพบปะด้วย ฝ่ายไทยกล่าวถึงสาเหตุที่มาพบกับผู้แทน LBA ในครั้งนี้ เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีในด้านการบินระหว่างไทยและเยอรมนี และหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านความปลอดภัยการบินจากผลการตรวจสอบของ ICAO ซึ่งได้ข้อสรุป ดังนี้

  • ปัญหาหลักเป็นเรื่องระบบการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) โดยที่การตรวจสอบของ ICAO เป็นการตรวจสอบระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ ไม่ได้ตรวจสอบผู้ประกอบการ ฝ่ายไทยยืนยันว่าผู้ประกอบการมีความปลอดภัย โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ที่ทำการบินประจำไปยังเยอรมนี เป็นสายการบินที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง
  • สำหรับมาตรการของเยอรมนีต่อประเทศที่มี SSC นั้น ผู้แทน LBA ชี้แจงว่า ประชาคมยุโรป (European Union – EU) มีเกณฑ์ของตนเอง ไม่ได้ยึดการตรวจสอบของ ICAO และจากการตรวจสอบในลานจอด (Ramp inspection) พบว่ามาตรฐานความปลอดภัยของ บกท. อยู่ในเกณฑ์ดี เยอรมนีจึงไม่มีการเพิ่มมาตรการใดๆ ต่อสายการบินไทยในขณะนี้
  • ผู้แทน LBA ยืนยันว่า บกท. สามารถเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงบริการได้ตามสิทธิที่มีภายใต้ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-เยอรมนี และจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่ออากาศยานส่วนบุคคลของไทย
  • LBA ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในประชาคมยุโรปมีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยการบิน (Air Safety Committee : ASC) ที่ให้นโยบายและประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยการบินของประเทศสมาชิก ซึ่งหากยังไม่มีการแจ้งหรือร้องขอใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไทยไม่ควรกังวล ขอให้ดำเนินการแก้ไข SSC ต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินงานร่วมกับสำนักงานภูมิภาคของ ICAO ที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เทคนิคของฝ่ายไทยได้นำเสนอเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของ ICAO และแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) ของไทย โดยละเอียด พร้อมทั้งการดำเนินการในทันทีเพื่อลดความเสี่ยง และแผนระยะต่อๆ ไปของไทย ให้ LBA ทราบ ซึ่ง LBA แจ้งว่ายินดีให้ความช่วยเหลือโดยจะส่งข้อมูลที่จำเป็น รวมถึง checklist สำหรับผู้ตรวจสอบมาให้ฝ่ายไทยนำไปปรับใช้ต่อไป

ที่มา : กรมการบินพลเรือน

ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ