ประชุมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ห้องปฏิบัติการ การสอบเทียบ การทดสอบ มาตรฐานและคุณภาพในเชิงบูรณาการ

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2015 11:19 —สำนักโฆษก

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2558) เวลา 15.00 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ห้องปฏิบัติการ การสอบเทียบ การทดสอบ มาตรฐานและคุณภาพในเชิงบูรณาการ ครั้งที่ 1/2558 โดยมี นายพานิช เหล่าศิริรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การประชุมหารือดังกล่าวมีประเด็นสำคัญๆดังนี้

หารือถึงแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการในภาพรวมของประเทศและความคืบหน้าการดำเนินงาน การจัดทำแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบในภาพรวมของประเทศ โดยได้วิเคราะห์บริบทและสถานภาพของปัญหา กำหนดขอบเขตการดำเนินงานพร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขและแนวทางการปฏิบัติ โดยสรุปได้ดังนี้

1. บริบทของปัญหาคือ โครงสร้างพื้นฐานของระบบมาตรวิทยา มาตรฐาน การทดสอบ และคุณภาพของประเทศยังไม่สมบูรณ์

2. สภาพของปัญหา

2.1 ระบบมาตรวิทยาของประเทศมีสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับผิดชอบด้านมาตรวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์และมาตรฐานการวัดแห่งชาติ ขณะที่สำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ดูแลด้านมาตรวิทยาเชิงกฎหมาย การทำงานประสานร่วมมือกันทั้งสองหน่วยงาน แต่ยังต้องการการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคนิคให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและข้อกำหนดด้านมาตรฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

2.2 หน่วยรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักมากกว่า 1 ราย จำเป็นต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกั

2.3 มาตรฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมีความแตกต่างกันและหลายส่วนไม่ได้อยู่ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์

2.4 ขาดฐานข้อมูลของหน่วยทดสอบที่มีความสามารถตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลและขอรับบริการได้ยาก

2.5 ประเทศไม่สามารถวางแผนพัฒนาความสามารถของหน่วยทดสอบในประเทศได้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

3. ขอบเขตการดำเนินงาน

3.1 จัดทำฐานข้อมูลของหน่วยทดสอบเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก

3.2 จัดทำแผนพัฒนาขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการเพื่อการทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ

4. แนวทางแก้ไขปัญหา

4.1 รวบรวมข้อมูลหน่วยทดสอบที่มีความสามารถในการทดสอบตามรายการของมาตรฐานบังคับ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลหน่วยทดสอบที่มีความสามารถทั้งรัฐและเอกชนให้ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลและขอรับบริการได้อย่างรวดเร็วผ่าน Website กลาง

4.2 จากข้อมูลมาตรฐานบังคับและหน่วยทดสอบที่มีความสามารถ จะทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลรายการทดสอบที่ยังไม่มีหน่วยทดสอบที่มีความสามารถได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาความสามารถของหน่วยทดสอบเพื่อรองรับมาตรฐานบังคับทั้งประเทศอย่างเป็นระบบได้ รวมทั้งสามารถวางแผนการพัฒนาหน่วยทดสอบสู่มาตรฐานสากลได้

4.3 ขยายการดำเนินการตามข้อ 3.1 และ 3.2 ไปสู่มาตรฐานสมัครใจ

4.4 ศึกษาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่เชื่อมโยงกับระบบการรับรองมาตรฐาน เพื่อวางแผนความสามารถของหน่วยทดสอบในอนาคต

5. แนวทางปฏิบัติ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 Phase คือ

5.1 Phase 1 รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานบังคับของหน่วยทดสอบในประเทศที่ได้รับการยอมรับ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำฐานข้อมูลและระบบการสืบค้น และวิเคราะห์สถานภาพของหน่วยทดสอบและวางแผนการพัฒนาหน่วยทดสอบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหน่วยทดสอบให้เป็น one stop service สำหรับแต่ละอุตสาหกรรม

5.2 Phase 2 ดำเนินการคล้าย Phase 1 แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลมาตรฐานสมัครใจ

5.3 Phase 3 พัฒนาหน่วยทดสอบให้ผลการทดสอบได้รับการยอมรับระดับสากล และรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและมาตรฐานในอนาคต

หารือถึงแนวทางความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการในภาพรวมของประเทศ โดยได้ดำเนินการวบรวมรายชื่อหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฏหมายในการออกเอกสารรับรองมาตรฐาน (Regulator) ทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและ Website เพื่อให้สามารถสืบค้นความสามารถของหน่วยทดสอบได้เรียบร้อย และในขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการทวนสอบคุณภาพของข้อมูลที่ได้รับ ปรับปรุงคุณภาพข้อมูล และทยอยนำข้อมูลบรรจุเข้าฐานข้อมูล รวมทั้งเตรียมการวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานสถานภาพหน่วยรับรองและหน่วยทดสอบในภาพรวมของประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับตรวจสอบมาตรฐานสินค้า โดย มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกาตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข พิจารราถึงความเป็นได้และความเหมาะสมในการดำเนินการดังนี้

  • สนับสนุนงบประมาณในการลงทุนด้านเครื่องมือและบุคลากรสำหรับห้องปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ
  • ส่งเสริมการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในประเทศไทยให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลและเป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศ
  • เพิ่มการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผอบการ SMEs เมื่อใช้บริการทดสอบและรับรองมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการของเอกชนที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อลดความแออัดของห้องปฏิบัตรการในสังกัดหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ
  • จัดตั้งศูนย์บริการด้านข้อมูล การให้คำแนำการให้บริการทดสอบมาตรฐานสินค้าและการออกเอกสารรับรองมาตรฐานแบบเบ็ดเตล็ด ณ จุดเดียว

ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ