ดร.พิเชฐ เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันจำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและคนที่ไม่ปกติ จึงเกิดแนวคิดการสร้างสังคมที่ดีและเท่าเทียมกันด้วย “อารยสถาปัตย์” หรือการออกแบบที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งในนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถจัดสถานที่ให้เป็นอารยสถาปัตย์ได้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยถูกออกแบบ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคนพิการ อาทิ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ ฯลฯ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุด้วยการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 5 ประเภท ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนงานในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ บางสิ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการส่งเสริมงานด้านอารยสถาปัตย์ เพื่อนำเทคโนโลยีระดับสูงมาช่วยเหลือผู้ป่วยทุกๆ รูปแบบให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการในพระราชดำริต่างๆ โครงการที่พัฒนาเทคโนโลยีเก้าอี้ทำฟันสำหรับผู้พิการ และโครงการของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ใช้เทคโนโลยีจากแสงซินโครตรอนคิดค้นชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตาบอดผลิต ฯลฯ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า แนวความคิด“อารยสถาปัตย์” การออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในประเทศชั้นนำ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น หรือ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มีการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน ในขณะที่หลายหน่วยงานในประเทศไทยก็หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง ส่วนของ สสส. ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานใน 4 เรื่อง คือ 1.การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายในกลุ่มเยาวชน นักศึกษา ผู้บริหารองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ภาครัฐ และเอกชน 2.การผลักดันนโยบาย ระเบียบข้อบังคับร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 3. การสื่อสารสาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักของสังคม และ 4. การพัฒนากลไกการการติดตาม และผลักดันขยายผลนโยบายการออกแบบเพื่อคนทุกคน จนทำให้เกิดองค์ความรู้ งานวิชาการต่างๆ ได้แก่ การจัดทำหลักสูตร และคู่มือการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาและสถาปนิก รวมถึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถนำผลงานเหล่านั้นไปกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยมีภาคประชาสังคมเป็นอีกแรงที่ช่วยขับเคลื่อนงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายกฤษนะ ละไล ผู้รับผิดชอบ “โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์” กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือหลักการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะการกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ แก่ผู้นำองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญจนเกิดผลทางการปฏิบัติ และเกิดการประสานความร่วมมือของทุกส่วน ในด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการทุกคนให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญเป็นการกระตุ้น และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมเห็นความจำเป็นของอารยสถาปัตย์ เพื่อให้คนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย เข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ในตึกอาคาร สถานที่ บริการสาธารณะ และระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งประชาคมอาเซียน ภายใน 5 ปีจากนี้ไป
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย ตัวอย่างเช่น วีลแชร์ไฟฟ้า และมีการเสวนาของบุคคลระดับแนวหน้าของไทย อาทิ มิสเตอร์มิเคล เหมนิธิวินเธอร์ เอกอัครราชฑูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ดร.นริศ ชัยสูตร รองปลัดกระทรวงการคลัง ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นพ.บรรลุ ศิริพานิช สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้แทนองค์กรคนพิการ ทั้งระดับภูมิภาคและในประเทศไทย
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ประสานรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : คุณวรรณภา บูชา (ต่าย) ฝ่ายสื่อสารองค์กร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โทรศัพท์ 02 343 1500
ที่มา: http://www.thaigov.go.th