แรงงาน เตรียมระดมทุกภาคส่วน กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2015 12:10 —สำนักโฆษก

ก.แรงงาน มองกรอบค่าจ้าง ปี 59 “เตรียม” จัดสัมมนาทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ระดมความคิด ออกแบบการขึ้นค่าจ้างแรงงาน แบบลอยตัว แบบกลุ่มจังหวัด แบบผสมผสาน หรือแบบกลุ่มอุตสาหกรรม

นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ว่ากำลังจัดเตรียมโครงการสัมมนา เรื่องกรอบแนวทา งและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 และการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยงานดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 เพื่อรับฟัง และระดมความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการจังหวัด โดยจะเชิญผู้แทนของทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ฝ่ายละ 1 ท่าน ผู้แทนภาครัฐ นักวิชาการทางด้านต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 เนื่องจากคณะอนุกรรมการจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ และเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในส่วนหนึ่งจะมีค่าจ้างแบบลอยตัว ค่าจ้างกลุ่มจังหวัด แบบผสมผสาน หรือแบบกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการให้ตรงกับสถานการณ์ มากที่สุด โดยนำผลที่ได้กลับไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน ขณะนี้คณะกรรมการค่าจ้างได้มีการติดตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม แรงงานเป็นประจำทุกเดือนโดยสภาวะเศรษฐกิจซึ่งโดยรวมมีเสถียรภาพ ไม่มีความผันผวน จนส่งผลกระทบค่าครองชีพของลูกจ้าง จากการสำรวจของคณะอนุกรรมการจังหวัดเห็นว่าอัตราค่าจ้างปัจจุบันยังมีความเหมาะสม ประกอบกับในปี 2558 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดกรอบ แนวทาง และหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 ไว้แล้ว โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานในพื้นที่ และให้คณะอนุกรรมการจังหวัดพิจารณา เสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดต่อคณะกรรมการค่าจ้างโดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558 จากนั้นจะเสนอให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองก่อนเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2558 นอกจากนี้ได้มีการพิจารณาข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 2558 ของคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ และคณะกรรมรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ได้มีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1) รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 2) โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน 3) รัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 ในปี พ.ศ.2557 และในปี พ.ศ.2558 ซึ่งในปัจจุบันจากผลสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท 4) รัฐต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ