พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แสดงความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมไปถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง แจ้งให้ทุกจังหวัดเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากการเผาทางการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 40 จังหวัด ข้าวเหนียว 40 จังหวัด อ้อย 48 จังหวัด และข้าวที่มีการเพาะปลูกทั้ง 76 จังหวัด เน้นเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกมาก 5 จังหวัดแรก ได้แก่ เพชรบูรณ์ น่าน เลย ตาก และจังหวัดนครราชสีมา โดยให้เกษตรกรใช้วิธีการไถกลบตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร และกำชับให้ดูแลเข้มงวดเป็นพิเศษในช่วงที่ผลผลิตออกมาก 2 ช่วงเวลา คือระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และสิงหาคม – ตุลาคม
ด้านการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ให้นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเล็งเห็นประโยชน์จากการไถ่กลบต่อซังที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรในระยะยาว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้ดินร่วนซุยมีคุณภาพดี ง่ายต่อการเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูถัดไป และส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตทางการเกษตร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนช่วยรักษาดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม
รวมไปถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึก และสร้างการมีส่วนร่วม โดยตระหนักถึงผลกระทบและอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการเผาทั้งต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนโดยตรง และปัญหาอื่นๆ เช่น อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากหมอกควันที่บดบังทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปยังสิ่งปลูกสร้าง หรือบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การป้องกันปัญหาหมอกควันและการหยุดเผาทางการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ที่มา: http://www.thaigov.go.th