ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558

ข่าวทั่วไป Monday May 18, 2015 13:58 —สำนักโฆษก

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – เมษายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,143,407 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,577 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 25,055 14,771 และ 14,562 ล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรและกรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าหมาย 47,713 และ 2,988 ล้านบาท สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ คือ ภาษีน้ำมัน ในขณะเดียวกันภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพราะกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจะพบว่ามีการขยายตัวจากช่วง เดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5 สะท้อนว่ากำลังซื้อและการลงทุนในประเทศยังมีการขยายตัวอยู่

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – เมษายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,143,407 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,577 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 25,055 14,771 และ 14,562 ล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรและกรมศุลกากรต่ำกว่าเป้าหมาย 47,713 และ 2,988 ล้านบาท สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ คือ ภาษีน้ำมัน ในขณะเดียวกันภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพราะกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศจะพบว่ามีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5 สะท้อนว่ากำลังซื้อและการลงทุนในประเทศยังมีการขยายตัวอยู่”

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 สูงกว่าประมาณการ”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนเมษายน 2558 และในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – เมษายน 2558)

ในเดือนเมษายน 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 168,020 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,089 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 23.2) ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – เมษายน 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 1,143,407 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,577 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.2)

1. เดือนเมษายน 2558

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 168,020 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,089 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 23.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 15,078 ล้านบาท หรือร้อยละ 82.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 84.6) โดยธนาคารออมสินเลื่อนการนำส่งรายได้จากเดือนมีนาคม 2558 มาเป็นเดือนเมษายน 2558 จำนวน 10,062 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ให้เร็วขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2558 มาเป็นเดือนเมษายน 2558 จำนวน 8,440 ล้านบาท ประกอบกับการจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 8,234 ล้านบาท หรือร้อยละ 147.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 169.6) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล

อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษียาสูบ และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,852 2,307 และ 1,607 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 41.8 และ 25.9 ตามลำดับ โดยภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง สำหรับภาษียาสูบและภาษีสุราฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งชำระภาษียาสูบและภาษีสุราฯ ก่อนที่พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558

2. ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – เมษายน 2558)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,143,407 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,577 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.2) โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 25,055 14,771 และ 14,562 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.1 5.9 และ 16.8 ตามลำดับ ขณะที่กรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 47,713 และ 2,988 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 และ 4.2 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 827,935 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,713 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 25,147 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) ซึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจำนวน 165,853 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 29,616 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.8) เนื่องจากมูลค่านำเข้าที่ยังหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ 251,857 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 4,470 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5)
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,677 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.2) เนื่องจากภาษีที่เก็บจากค่าบริการและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ภาษีจากกำไรสุทธิรอบครึ่งบัญชีของบริษัทญี่ปุ่น (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
  • ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,467 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 35.3) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับภาษีที่จัดเก็บจากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,313 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.0) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนสภาพการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดี

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 263,302 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,771 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.4) เป็นผลจากภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 27,961 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 82.2) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 12,156 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 19.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.9) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 68,512 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,988 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.0) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 3,447 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 6.0 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 100,766 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,055 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.7) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่สูงกว่าประมาณการ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 101,025 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,562 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 31.6) สาเหตุสำคัญมาจากการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 10,700 ล้านบาท และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ 5,562 ล้านบาท สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,895 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 582 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.3) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 161,252 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,770 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 129,246 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,454 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 32,006 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,316 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4

2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 6,513 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 913 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.3

2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 8,718 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4

2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 8,385 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 864 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.3

2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 4 งวด เป็นเงิน 33,265 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,825 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3517

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ