การจดทะเบียนธุรกิจเดือนเมษายน 2558

ข่าวทั่วไป Tuesday May 19, 2015 12:38 —สำนักโฆษก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นางสาว ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนเมษายน 2558 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 4,564 ราย ลดลง 1,134 ราย คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 5,698 ราย และเพิ่มขึ้น 299 ราย คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,265 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศ ในเดือนเมษายน 2558 มีจำนวน 925 ราย

มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเมษายน 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 14,822 ล้านบาท ลดลง จำนวน 1,270 ล้านบาท คิดเป็น 8% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 16,092 ล้านบาท และลดลงจำนวน 2,467 ล้านบาท คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีจำนวน 17,289 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 481 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 261 ราย ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 135 ราย ธุรกิจ ขายส่งเครื่องจักร จำนวน 102 ราย และธุรกิจการทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี จำนวน 93 ราย

ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 610,195 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.70 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 427,594 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,090 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,511 ราย

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนเมษายน 2558 มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 คิดเป็น 20% เนื่องจาก ในเดือนเมษายน 2558 มีวันหยุดราชการมากทำให้จำนวนวันทำการน้อยกว่าเดือนอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน (เม.ย. 57) เพิ่มขึ้น คิดเป็น 7% และหากพิจารณาจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-เม.ย. 58) พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 11% และมีการจัดตั้งในแต่ละเดือนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-เม.ย. 57) จึงคาดว่าแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2558 จะมีจำนวน สูงกว่าปีก่อน โดยคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 60,000-65,000 ราย ซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการของรัฐบาลในการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุน สถานการณ์การเมือง ในประเทศที่มีเสถียรภาพ การค้าชายแดนและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น และการส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทโดยรวม

สำหรับเรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2557 นั้น โดยในเดือนเมษายน 2558 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต จำนวน 672 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวน 4,564 ราย หรือ คิดเป็น 15% โดยแบ่งออกเป็น

  • ส่วนกลาง 487 ราย คิดเป็น 11% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขต มากที่สุด คือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 130 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา) จำนวน 90 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 76 ราย
  • ส่วนภูมิภาค 185 ราย คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ สพค.จังหวัดชลบุรี จำนวน 28 ราย รองลงมา สพค.สมุทรสาคร จำนวน 20 ราย และสพค.จังหวัดปทุมธานี จำนวน 14 ราย

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของ นิติบุคคล โดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 รวมทั้งสิ้น 420,086 ครั้ง โดยในเดือนเมษายน 2558 มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 39,341 ครั้ง คิดเป็น 10%

อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่า จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่น ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 11,730 ราย 13,376 เว็บไซด์ ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,172 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,558 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,419 เว็บไซด์ คิดเป็น 18% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,145 เว็บไซด์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,485 เว็บไซด์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ นอกจากผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติ ไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

ท้ายนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้มีการเปิดตัวโครงการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์(DBD e-Filing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี XBRL มาสนับสนุน การให้บริการในการรับงบการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th>เลือก "การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)” ผู้ประกอบการสามารถ ส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และรูปแบบ XBRL in Excel ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 6,419 ราย มาแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 2,683 ราย และส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 248 ราย โดยระบบนี้ สามารถรองรับการนำส่งงบการเงินของนิติบุคคลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ โดย 5 จังหวัดที่มีการนำส่งสูงสุด ได้แก่

(1) กทม. จำนวน 118 ราย คิดเป็น ร้อยละ 48

(2) นราธิวาส จำนวน 18 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7

(3) สระบุรี จำนวน 18 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7

(4) นครราชสีมา จำนวน 10 ราย คิดเป็น ร้อยละ 4

(5) สมุทรปราการ จำนวน 10 ราย คิดเป็น ร้อยละ 4

ทั้งนี้ มีบริษัทมหาชนจำกัดที่นำส่งแล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่

(1) บมจ.หลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

(2) บมจ.บิซิเนส ออนไลน์

(3) บมจ.ไอที ซิตี้

นอกจากนี้ กรมยังสนับสนุนกลุ่มผู้ทำบัญชีที่มีหน้าที่ในการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางบัญชี ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปี โดยผลักดันให้สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกประกาศให้ ผู้ทำบัญชีสามารถนับจำนวนชั่วโมงพัฒนาความรู้ทางบัญชีฯ ได้ 1 ชั่วโมงต่อ 1 นิติบุคคลที่นำส่งงบการเงิน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558

ในโอกาสนี้กรมฯ ยังเพิ่มทางเลือกในการขอหนังสือรับรองให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมาเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งแต่ เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2558 มีผู้มาใช้บริการ ทั้งสิ้น 707 คำขอ จำนวน727 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง 466 คำขอ 483 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 241 คำขอ 244 ฉบับ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ