วันนี้ (25พ.ค.58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ
ภายหลังเสร็จสินการประชุมฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการได้ส่งเรื่องมาและขอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นภายใน 30 วัน ซึ่งวันนี้ก็ครบกำหนด โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ทำความเห็นและนำไปส่งให้คณะกรรมาธิการ ก่อนเวลา 16.30 น. ของวันนี้ เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษวันนี้ เป็นการประชุมต่อจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติจึงมีเรื่องอื่นเสนอเข้าที่ประชุมพิจารณาเป็นจำนวนมาก ทำให้คณะรัฐมนตรีมีเวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้เพียงแค่ 1 ชั่วโมง วันนี้จึงนำเรื่องการพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมาประชุมหารือในคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ โดยที่ประชุมฯ ได้รับฟังข้อที่จะเสนอแก้ไข และบางส่วนไม่ได้มีการแก้ไขเป็นการเสนอความเห็น เพื่อให้คณะกรรมาธิการนำกลับไปพิจารณาคิดและดำเนินการใหม่อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้มีสิ่งที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอไปทั้งหมด ประมาณ 100 ประเด็น ซึ่งในจำนวน 100 ประเด็น ครึ่งหนึ่งเป็นการเสนอขอแก้ไขถ้อยคำ เช่น กับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ หรือคำบางคำไม่ชัดก็ขอให้แก้ไขให้ชัดเจน
ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่กระทบกับหลักใหญ่ของแต่ละมาตรา ซึ่งทั้งหมดคณะรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะไปชี้แจงด้วยวาในโอกาสต่อไป หากคณะกรรมาธิการเรียกตัวให้ไปชี้แจง อย่างไรก็ตามในส่วนของถ้อยคำนั้นคงไม่ต้องลงรายละเอียด เพราะเป็นถ้อยคำ ภาษา บางประโยคอ่านแล้วสับสนก็ขอให้เขียนเรียงประโยคใหม่อะไรมาก่อนหรือหลังเท่านั้น แต่อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องของการไปกระทบกับหลักการ เช่น การให้มี หรือไม่ให้มีสภา หรือสมัชชาบางอย่าง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการตั้งประเด็นในเบื้องต้นโดยมีความเป็นห่วงอยู่ 3 เรื่อง คือ 1) ทำอย่างไรที่จะให้สิ่งที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนี้ได้ดำเนินการไว้บ้างแล้วสามารถสานต่อในช่วงต่อ ไปได้ เหมือนเช่นที่นายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงต้นน้ำ ซึ่งจะทำอย่างไรในช่วงกลางน้ำหรือกลางทาง รวมทั้งช่วงปลายทางมีการสานต่องานที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้ในระยะต่อไปให้เกิดความยั่งยืนจนถึงรัฐบาลหน้า 2) ทำอย่างไร ที่จะให้ประเทศชาติบ้านเมืองในอนาคตกลับมามีความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดความขัดแย้ง แตกแยก ร้าวฉานเกิดขึ้นอีก ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็สามารถดำเนินการได้ผลมาแล้วในระดับหนึ่ง และ 3) ทำอย่างไรให้การเมืองในอนาคตดีขึ้น มีการพัฒนาและก้าวหน้า ตลอดจนให้ความเป็นธรรมได้มากขึ้น และเป็นที่พึงพอใจได้มากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ความเป็นห่วงและกังวลทั้ง 3 ข้อดังกล่าวควรจะมีคำตอบอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงแม้จะตอบได้ไม่ทั้งหมดก็ขอให้ตอบได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งในเวลาที่ผ่านมาเราพูดกันมากถึงคำว่า “ของ” โดยอีกฝ่ายหนึ่งมีทีท่าเหมือนจะลองของ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล หลายคนมีความกังวลว่าที่ทำไปแล้วจะเสียของ ซึ่ง “ของ” ที่กังวลจะเสียก็คือ 3 ข้อห่วงใยและกังวลดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีนั่นเอง
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีส่งถึงคณะกรรมาธิการนั้นต้องยึดบทบัญญัติ 315 มาตราที่มีอยู่ จะไปเพิ่มออกนอกเหนือจากนั้นมากไม่ได้ แม้แต่เรื่องที่ไม่ได้เขียนแต่ควรจะเขียนก็อาจจะเสนอแนะเพิ่มไปมากไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการไปสร้างมาตราใหม่เพิ่มขึ้น และหากคณะธรรมาธิการขานรับกับข้อเสนอด้วยก็จะยิ่งกลายเป็นว่านั่นคือพิมพ์เขียว เพราะฉะนั้น คณะรัฐมนตรี จึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่เสนอหรือเขียนอะไรเพิ่มเติมใหม่มากเกินสมควร ส่วนที่มีการเพิ่มไปบ้างในไม่กี่มาตราเป็นเพราะองค์กรอิสระเสนอความเห็นมาว่าให้เพิ่ม เพื่อองค์กรอิสระจะได้ทำงานได้คล่องตัว ดังนั้นความคิดเห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหลักการบางเรื่องที่มีอยู่และเสนอว่าหากแก้ไขได้ควรจะแก้เป็นอย่างไรเท่านั้น ซึ่งในโอกาสต่อไปจะชี้แจงรายละเอียดให้รับทราบอีกครั้ง
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th