“จักรมณฑ์” ขันน๊อตอุตสาหกรรมจังหวัด เร่งงาน 6 ด้าน สนองนโยบายรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2015 14:33 —สำนักโฆษก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานนำร่องตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 โดยเร่งงาน 6 ด้านตามนโยบายรัฐบาล คือ 1)การกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ 2) การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม 3) มาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน 4) การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ 5) การปรับปรุงฐานข้อมูล Thailand Digital Gateway และ6) การปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส

“ผมทราบดีว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีข้อจำกัดในด้านบุคลากรที่จะเข้าไปตรวจสอบและกำกับดูแล และโรงงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เทคโนโลยี และเครื่องจักรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมได้หารือร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีว่าจะต้องมี Third Party มาช่วยดำเนินการตรวจสอบ(Audit)โรงงาน โดยเบื้องต้นอาจเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดำเนินการ เช่น การตรวจสอบโรงงานในการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ และตรวจสอบโรงงานที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี โรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องไม่เรียกร้องเพื่อรับผลประโยชน์ใดๆ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นอกจากนี้ ได้กำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเร่งดำเนินการ ใน 6 เรื่อง คือ 1)การกำกับดูแลโรงงานและเหมืองแร่ จากผลการเปรียบเทียบประเด็นสิ่งแวดล้อมจากสถานประกอบการโรงงาน ที่กระทรวงฯเก็บข้อมูลไว้ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2558 พบว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่พบมากอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ปัญหาเสียงดัง มลภาวะทางอากาศ ปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งปัจจุบันการร้องเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้นเพราะประชาชนตื่นตัวในการรักษาสิทธิ์และห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรต้องมีความคุ้มค่า จึงได้ร่วมสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ

2) การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่กระทรวงฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบ 1.2-1.5 ล้านตันต่อปีในปีนี้ โดยโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียมีมาตรการให้ 90% ของโรงงานที่เข้าข่ายเข้าสู่ระบบ (52,000 ราย) ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ การกำหนดบทลงโทษโรงงานที่ไม่ได้นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ ด้านผู้รับกำจัดและบำบัด มีมาตรการหาพื้นที่รองรับการขยายตัวของโรงงานในระยะ 20 ปี จำนวน 6 พื้นที่ และนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม มูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น และการขึ้นทะเบียนจับคู่ระหว่างโรงงานผู้ก่อกำเนิดและผู้บำบัด ส่วนผู้ขนส่งกากฯมีมาตรการติดตั้งระบบ GPS รถขนส่งกาก และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมหากมีการลักลอบทิ้ง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

3) มาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมประสานงานกับคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ทั้งนี้ ประเภทโรงงานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด คือ 1)โรงงานผลิตและประกอบอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2)โรงงานประเภทรีไซเคิล 3)โรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งจากไม้ ยาง อโลหะ พลาสติก โดยสาเหตุเกิดจาก1)ไฟฟ้าลัดวงจร 2)เครื่องจักร/อุปกรณ์ชำรุด และ3)อื่นๆ เช่น ปฏิกิริยาเคมี ความร้อน การวางเพลิง ตลอดจนความประมาทของบุคคล ตามลำดับ

“กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการทบทวนปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมกับประเภท ขนาด และชนิดของโรงงานมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันในช่วงที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงก็ขอให้ สอจ.ทุกจังหวัด ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมไปก่อน รวมถึงการกำหนดให้สถานประกอบกิจการโรงงานตรวจประเมินตนเองและจัดส่งรายงานให้กระทรวงในทุก 2 ปี สำหรับโรงงานประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง และโรงงานที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี และในทุก 5 ปี สำหรับโรงงานประเภทอื่น หากไม่มีการรายงานจะไม่มีการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต”นายจักรมณฑ์ กล่าว

4) การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน 219 กระบวนงาน สิ่งที่สำคัญคือการชี้แจง แนะนำผู้ประกอบการถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการขอเอกสารเพิ่มเติม อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ และป้องกันความผิดพลาด เพื่อให้ทำงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

5) การปรับปรุงฐานข้อมูล Thailand Digital Gateway เพื่อรองรับระบบการอนุมัติผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ สอจ.จำเป็นต้องลงข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานต่างๆ จากรูปแบบเอกสารนำเข้าระบบดิจิตัลมากขึ้น เช่น การยื่นขอ รง.4 ข้อมูลโรงงานการร้องเรียน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตได้ด้วย

และ 6) การปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ไม่เรียกรับผลประโยชน์ใด มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่อาจได้รับโทษทั้งทางวินัย และอาญาได้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ