(21 พ.ค. 2558) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนางสาวเสาวณี มุสิแดง ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ที่ปรึกษาฯ รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร เลขานุการฯ และคณะ เดินทางมายังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ รวมถึงเป็นประธานในพิธีเปิด WU INNOVATION GALLERY ศูนย์รวบรวมผลงานที่ใช้บริการงานวิจัยและองค์ความรู้ด้าน วทน. ของอุทยานฯ และพบผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ใบทุเรียนน้ำอบแห้ง จุลินทรีย์เร่งการเจริญเติบโตของพืช และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากรังนก เป็นต้น โดยมี ดร.เลิศชาย ศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม ผช.ดร.นิยม กำลังดี ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ
ดร.พิเชฐ รัฐมนตรี ก.วิทย์ฯ กล่าวถึง การทำงานระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ซึ่งในส่วนของภาคใต้จะตั้งอยู่ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา แต่หากเสริมด้วยเขตนวัตกรรมพิเศษ คือ เขตเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ เพราะนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม ในอนาคตอาจขยายกลายเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ และจะกลายเป็นสิ่งจูงใจให้เด็กหันมาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การทำบัญชีนวัตกรรม โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนการใช้สินค้าและนวัตกรรมไทยที่ได้มาตรฐานมากถึง 10 – 30 % ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ ได้มอบแนวทางให้ทางมหาวิทยาลัยในเรื่อง Talent Mobility โดยให้ผลักดันนักวิจัยของมหาลัย รวมถึงนักศึกษาไปทำงานร่วมกับเอกชน ตั้งเป้า 20 คน และให้รวมห้องปฏิบัติการทดสอบสินค้า 5 จังหวัด เป็นศูนย์ One Stop Service เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทดสอบคุณภาพสินค้าและลดต้นทุนในการนำสินค้าไปทดสอบยังต่างประเทศ นอกจากนี้ได้เสนอให้เปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่ต้องรอให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการอุทยานฯ เป็นการออกไปหาผู้ประกอบให้มาใช้ประโยชน์แทน
ด้าน ดร.เลิศชาย รองอธิการบดีฯ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นกลไกหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเห็นความจำเป็นและสำคัญต่อการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ได้ใช้ประโยชน์ได้จริง ปัจจุบันอุทยานฯ ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 7 แล้ว ภายใต้การสนับสนุนของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น มีผู้ประกอบการเข้าใช้ประโยชน์และบริการของอุทยานฯ มากกว่า 250 รายจนกระทั่งปัจจุบัน
ท้ายสุด ผช.ดร.นิยม ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวต่อว่า โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ตอบสนองต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่จำเป็นของประเทศ ด้วยกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยออกไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็น Science Park Services เต็มรูปแบบ โดยแบ่งเป็น 4 Platform คือ 1.การให้บริการ เช่น การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การออกแบบสินค้า การให้บริการทางห้องปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาและพื้นที่โรงงานต้นแบบ 2.การสร้างผู้ประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนานวัตกรรม 3.แผนงานการร่วมวิจัยกับเอกชน เป็นการร่วมกันของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ ซึ่งขั้นต่ำผู้ประกอบการต้องสนับสนุนงบประมาณอยู่ที่ 25 % ทางมหาวิทยาลัยจะนำนักวิจัยไปช่วย SMEs มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ด้านยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอาหารทะเล และ 4.โครงการ IRTC เป็นโครงการร้วมพัฒนายกระดับเทคโนโลยีและการวิจัยของ SMEs ในพื้นที่ เช่น การลดใช้พลังงานในการผลิตหรือการลดวัตถุดิบในการผลิต นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ยังมีบริการอื่น เช่น การบ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) การสนับสนุนนักวิจัยไปทำงานร่วมเอกชน (Talent Mobility) การยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (iTAP) และการส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม เป็นต้น
ด้าน สอว. หรือ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคว่า ตามนโยบายของทางรัฐบาลที่ให้มีการจัดตั้งและดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคขึ้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล จึงได้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ขึ้นภายใต้ชื่อ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งการนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และจัดการผสมผสานทรัพยากรพื้นฐานของมหาวิทยาลัย องค์ความรู้การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการประกอบกิจการและการพัฒนาธุรกิจให้เกิดความก้าวหน้าแก่ผู้ที่เข้ามารับการบ่มเพาะ ให้สามารถแข่งขันเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแม่ข่ายในการดำเนินงาน โดยเป้าหมายการดำเนินงานจะมุ่งเน้น “โครงการยกระดับและการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมยางพารา”
ปัจจุบัน สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผ่านกิจกรรม 5 แผนงานหลัก ได้แก่
1. แผนการพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์
2. แผนการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
3. แผนการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่
4. แผนการวิจัยวิจัยร่วมกับภาคเอกชน
5. แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุทยานวิทยาศาสตร์
ภารกิจหลักของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
1. การประสานและสนับสนุนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ได้ร่วมการวิจัยและพัฒนายกระดับเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง
2. ดำเนินกิจกรรมการบ่มเพาะและส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและธุรกิจสร้างสรรค์อย่างครบวงจร เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตบนพื้นฐานการใช้ วทน.
3. ดำเนินกิจกรรมการจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
4. การประสานและสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มีความแข็งแรง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้อย่างยั่งยืน
หลังจากพิธีเปิด WU INNOVATION GALLERY รมว.วิทย์ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยต่าง ๆ ภายในอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงโรงงานต้นแบบการผลิตยา ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ หน่วยวิจัยและวิศวกรรมไม้
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และ นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th