คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าวในการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ ทั้งนี้ ร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่น มีสาระสำคัญ ดังนี้
ความร่วมมือในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ทั้งสองฝ่ายพิจารณารูปแบบการลงทุนและความช่วยเหลือด้านการเงินที่เหมาะสม รวมทั้งจะร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ การออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาระบบรางเส้นทางตามแนวระเบยงเศรษฐกิจด้านใต้ ทั้งสองฝ่ายจะให้ความสำคัญในการพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า การปรับปรุงรางและโครงสร้างราง การยกระดับขบวนรถไฟและระบบสัญญาณ โดยจะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ในทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบความร่วมมือซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
เส้นทางรถไฟระหว่างแม่สอด - มุกดาหาร ทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทุกๆด้านในเส้นทางดังกล่าว
การให้บริการขนส่งสินค้าทางราง ทั้งสองฝ่ายจะศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางนี้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางของไทย ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2558 และจะเริ่มดำเนินการโครงการนำร่องในต้นปี 2559
ระบบการขนส่งมวลชนทางราง ทั้งสองฝ่ายจะรับทราบความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและประเมินถึงการนำระบบเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาใช้ในโครงการขนส่งมวลชนทางรางอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ – ระยอง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมรับทราบข้อเสนอของกระทรวงที่ดินฯของญี่ปุ่น ที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมจัดทำแผนงาน
นอกจากนี้ ร่างบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่น จะมีการพิจารณาถึงความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมระดับรัฐมนตรี และกรอบระยะเวลาการดำเนินการ
ในโอกาสนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการมีส่วนร่วมของไทยในโครงการ Clean Air for Smaller Cities in the ASEAN Region เพื่อส่งเสริมศักยภาพเมืองขนาดเล็กและกลางในภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาและดำเนินการตามแผนเพื่อนำไปสู่คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นและทำให้เมืองมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน นอกจากนี้ แผนอากาศสะอาดยังจะช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลเมืองมีสุขภาพที่ดีขึ้น การท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น และประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
โครงการ Clean Air for Smaller Cities in the ASEAN Region ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (Gesellschaft fur internationale Zusammenarbeit : GIZ) เพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เมืองและรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนากรอบทางด้านกฎหมายในการดำเนินการ การปรับปรุงองค์กร และการฝึกอบรมในระดับประเทศ ภูมิภาค ท้องถิ่น รวมทั้ง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคประชาสังคมและภาคเอกชน
ร่างความตกลงสำหรับการดำเนินโครงการฯ เป็นการแสดงเจตจำนงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและชาติสมาชิกอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานอาเซียนในการส่งเสริมให้ภูมิภาคอาเซียนมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 2.5 ล้านยูโร สำหรับการดำเนินโครงการ โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) เป็นหน่วยงานบริหารโครงการและคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC) เป็นผู้ประสานการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ อาเซียนจะเป็นผู้ดำเนินโครงการและสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานโครงการในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงเป็นผู้จัดการด้านการเงิน
สาระสำคัญของร่างความตกลงสำหรับการดำเนินโครงการฯ มีดังนี้
1.ดำเนินกิจกรรมโครงการสนับสนุนการปรับปรุงนโยบาย กฎ ระเบียบ และมาตรฐานเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น
2.องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนีจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ รวมถึงการสนับสนุนด้านวิชาการ โดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายเยอรมนีตำแหน่งหัวหน้าโครงการ และที่ปรึกษาด้านแผนอากาศสะอาดเพื่อพัฒนามาตรการในการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ
3.อาเซียนจะสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมโครงการ การแต่งตั้งผู้ประสานงาน การจัดตั้งสำนักงานในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการ และเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ
ทั้งนี้ โครงการ Clean Air for Smaller Cities in the ASEAN Region เป็นโครงการต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอากาศโดยการให้ความรู้ในการวางนโยบายและการดำเนินการลดปัญหามลพิษทางอากาศ ลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการคมนาคมและการใช้พลังงาน โครงการ Clean Air for Smaller Cities in the ASEAN Region ยังดำเนินการโดยโครงการ Clean Air Asia ซึ่งเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่ได้รับรองจากองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับเครือข่ายอีก 8 ประเทศและ 250 องค์กรในอีก 31 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพในการจัดการกับคุณภาพอากาศในเมืองต่างๆของประเทศสมาชิกอาเซียน
โครงการดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 จนถึงปัจจุบัน มีความร่วมมือกับเมืองต่างๆในอาเซียน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และนครราชสีมาของไทย ประเทศสมาชิกอื่นๆที่ร่วมโครงการ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์และเวียดนาม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th