รัฐบาลรื้อระบบการประเมินสถานศึกษาของสมศ. จากรูปแบบเดิมมาเป็นการประเมินด้วยเครื่องมือออนไลน์ ลดภาระของครูทั้งประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2015 16:28 —สำนักโฆษก

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2558) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแลสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้แถลงข่าวเรื่อง การปรับปรุงระบบการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ที่สืบเนื่องจากกระแสการปฏิรูปการศึกษาไทยให้มีคุณภาพดีขึ้น มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานและการประเมินสถานศึกษาโดย สมศ. ได้ดำเนินการทุก ๆ 5 ปี และดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง แต่มีเสียงเรียกร้องให้มีการทบทวนบทบาทก่อนประเมินรอบ 4 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา และต้องการเห็น สมศ.มีการปรับปรุงการประเมิน ดังนี้ 1. ตัวชี้วัดการประเมินต้องสะท้อนคุณภาพและสามารถนำมาใช้พัฒนาคุณภาพได้จริง 2.มาตรฐานการประเมินต้องดี 3. ไม่เป็นภาระงานมาก และ 4.ประเมินเชิงพื้นที่มากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประเมินที่ผ่านมามีปัญหาเพราะพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกำหนดให้ประเมินสถานศึกษาทุกแห่ง อีกทั้ง รูปแบบการประเมินทำให้ภาระงานมากเกินไป จึงต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบ เช่น ตัวชี้วัดการประเมินมีจำนวนมากเป็นการวัดปริมาณมากกว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น จึงควรปรับลดจากการวัดมาตรฐาน 7 กลุ่ม 20 ตัวชี้วัดมาเน้นการสะท้อนคุณภาพใน 4 ด้าน ได้แก่ ศิษย์ ครูการบริหารจัดการภายในและความสัมพันธ์กับภายนอกรวมทั้งต้องเป็นหัวข้อที่วัดได้จริง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมทั้ง มอบหมายให้ สมศ.แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาขึ้น โดย มี รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และด้านพัฒนาระบบรับรองคุณภาพมาตรฐาน โดย ศ.ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ หนึ่งในคณะทำงาน ให้ความเห็นว่า สมศ. ได้ให้ความร่วมมือกับคณะทำงานเป็นอย่างดี และได้ร่วมกันทบทวนและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา นำไปสู่การพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงตัวชี้วัดและวิธีการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปผล โดยมี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้ 1) การยกเลิกการประเมินแบบเดิมที่เป็นการไปประเมินที่โรงเรียนตามเอกสารจำนวนมากที่โรงเรียน หรือสถานศึกษาต้องจัดเตรียมมาเป็นการประเมินออนไลน์ และบูรณาการใช้ข้อมูลของหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาเป็นหลัก ไม่ต้องไปประเมินที่โรงเรียน จึงลดภาระงานแก่ครูยกเว้นกรณีโรงเรียนที่มีข้อมูลสะท้อนปัญหาหรือความผิดปกติบางอย่างก็สามารถเข้าไปประเมินเชิงลึกและช่วยเหลือเป็นกรณีๆ ไป 2) การจัดระบบใหม่เพิ่มเติมให้มีการขอรับการประเมินโดยสมัครใจที่จะนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาสถานศึกษา โดยอาจมีการรับรองมาตรฐานหลายระดับ เช่น ระดับพื้นฐาน ระดับก้าวหน้า เป็นต้น และ 3) การประเมินเพื่อพัฒนาโรงเรียนและสถานศึกษาบางกลุ่มที่เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การปฏิรูปของกระทรวงหรือของรัฐบาลหรือของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เช่น โรงเรียนในพื้นที่ยากลำบากหรือโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นปัญหามานาน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพดีขึ้น จึงต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการประเมินคุณภาพภายนอกและปฏิรูปสมศ. ให้เป็นองค์กรขนาดเล็กคุณภาพสูงเป็นมือยุทธศาสตร์ให้แก่รัฐบาลในการพัฒนาสถานศึกษาและนำพาให้การศึกษาของประเทศพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมการ ดังนั้น การประเมินและการรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 จะเลื่อนเวลาออกไปอีก 6 เดือนเพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ระบบการประเมินสถานศึกษาของ สมศ. ด้วยเครื่องมือออนไลน์จะนำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน ศกนี้

กลุ่มยุทศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุท / รายงาน

ดวงใจ / ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ