นายกรัฐมนตรีย้ำบทบาทแข็งขันของไทยในเวทีสหประชาชาติ พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกประเทศในฐานะมิตรของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday May 27, 2015 16:30 —สำนักโฆษก

คณะเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค จาก 12 ประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

วันนี้ (27 พ.ค. 2558) เวลา 09.00 น. พลเอก ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค จากประเทศต่าง ๆ จาก 12 ประเทศ ประกอบด้วยคณะเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวร ประจำสหประชาชาติ จาก 12 ประเทศ ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คอโมโรส สาธารณรัฐโดมินิกัน กาบอง กานา ฮังการี คิริบาส นาอูรู แคเมอรูนและวานูอาตู เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยตามโครงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของประเทศไทย (Friends of Thailand) ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประเทศเหล่านี้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย วัฒนธรรม แนวนโยบาย และบทบาทของไทยในด้านสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ซึ่งเป็นสามเสาหลักของงานสหประชาชาติ

โอกาสนี้ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าเยี่ยมคารวะ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณคณะเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวร ฯ ที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นการเยือนครั้งแรกสำหรับหลายท่าน โดยหวังว่า ทุกคนจะได้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทย ตลอดจน เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สถานการณ์ทางการเมืองไทย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีความคืบหน้า โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ได้รับจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จากนั้นจะนำเสนอร่างที่แก้ไขใหม่เพื่อให้สภาปฏิรูปเห็นชอบ คาดว่า กระบวนการยกร่างรัฐมนตรีใหม่จะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2558 หากจะต้องมีการทำประชามติ กำหนดการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ แต่หากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะสามารถออกกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง การดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยไม่มีการก้าวก่าย และยืนยันว่า ความขัดแย้งต่างๆ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาทำหน้าที่มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ความสงบสุขในสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย ขอย้ำว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบบประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักคิดหลักการทำงานของรัฐบาลว่า รัฐบาลไทยไม่เคยฝ่าฝืนหลักการประชาธิปไตยสากลโลก และยึดหลักการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Center Approach) รัฐบาลเร่งเดินหน้าในการปฏิรูปโดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนใน ขณะเดียวกันก็เน้นความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน ตามหลักการสากล

บทบาทไทยในกรอบพหุภาคี

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความสัมพันธ์และทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อปี 2489 โดยร่วมทำงานอย่างครบถ้วนทั้งสามเสาหลักของสหประชาชาติ คือ การเมืองและความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง เข้าใจถึงความซับซ้อนของสิ่งท้าทายต่างๆที่ต้องเผชิญ โดยไทยจะเร่งทำงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชน และการรับมือกับภัยคุกคามดั้งเดิมและภัยคุกคามรูปแบบใหม่

ประเทศไทยเชื่อมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมเสมอที่จะทำงานกับทุกประเทศในฐานะหุ้นส่วน โดยเชื่อว่า ประชากรของทุกประเทศ คือ พลเมืองโลก ที่เราทุกคนจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน โดยขอให้มองว่า ประชาชน คือ ศูนย์กลาง ของการพัฒนา

โดยนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึง การเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม ของคณะเอกอัครราชทูตฯ ระหว่างเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามที่จะตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเองเชื่อว่า ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ไม่ว่าเรื่องการป้องกันความขัดแย้ง การแก้ไขความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ และไทยสนับสนุนวาระเรื่อง สตรี สันติภาพและความมั่นคงของสหประชาชาติ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า ประเทศไทยยึดมั่นในพันธกิจที่มีต่อสหประชาชาติ และประชาคมโลก พร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติและทุกประเทศ ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและโอกาส รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมรักษาสันติสภาพ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการแก้ปัญหาต่างๆทั่วโลกขณะนี้ เช่นปัญหาค้ามนุษย์ และการลักลอบขนมนุษย์ข้ามชาติ มีพื้นฐานมาจากความไม่เสมอภาคในสังคม ซึ่งขอให้คณะผู้แทนและเอกอัครราชทูต ร่วมกันผลักดันให้สหประชาชาติและประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เชื่อว่าทุกประเทศในเวทีสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือมหาอำนาจ สามารถสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติได้

โอกาสนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า หลังรับฟังคำชี้แจง นาง Marlene Moses เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรนาอูรูประจำองค์การสหประชาชาติ (Permanent representatives of Nauru to the United Nations) ในฐานะผู้แทนคณะผู้แทนถาวร ประจำองค์การสหประชาชาติกล่าวประทับใจ บรรยากาศและสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยที่มีความสงบเรียบร้อยและเต็มไปด้วยรอยยิ้มตามที่นานาชาติเรียกขานว่า ดินแดนแห่งรอยยิ้ม สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยขณะนี้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และมีความก้าวหน้าทั้งเศรษฐกิจและสังคม จึงขอให้กำลังใจในการทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป พร้อมชื่นชมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับมนุษย์และทรัพยากร ทั้งน้ำและการเกษตร ทั้งนี้ จากการสัมผัสประเทศไทยโดยตรงด้วยตนเอง เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความสวยงาม มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และยังประทับใจในอาหารไทยที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผู้แทนคณะเอกอัครราชทูตหลายท่านกล่าวว่า ตั้งใจจะพาครอบครัวมากลับเที่ยวไทยเป็นการส่วนตัวอีกด้วย

อนึ่ง การเยือนประเทศไทยของคณะเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวร ประจำสหประชาชาติ ตามโครงการสร้าง Friends of Thailand นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรของไทยในแวดวงสมาชิกสหประชาชาติ และเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประเทศสมาชิกเหล่านี้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย วัฒนธรรม แนวความคิด นโยบาย โดยเน้นให้ผู้แทนของประเทศเหล่านี้สัมผัสและมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับบรรยากาศและสภาพความเป็นจริง รวมถึงการดำเนินชีวิตของคนไทย

ระหว่างการเยือน คณะเอกอัครราชทูตและผู้แทนฯ มีกำหนดการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พิพิธภัณฑ์บ้าน Jim Thompson เยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการกำลังใจในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม การเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดมหาธาตุ เป็นต้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ