นายกรัฐมนตรีย้ำแนวทางการลงทุนต้องส่งเสริมให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2015 16:53 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีย้ำแนวทางการลงทุนต้องส่งเสริมให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ โดยบอร์ดบีโอไอเห็นชอบเพิ่มมาตรการส่งเสริมพลาสติกชีวภาพ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค – เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งในอนาคต พร้อมอนุมัติส่งเสริมการลงทุนใน 8 โครงการ เงินลงทุนกว่า 27,838.4 ล้านบาท

วันนี้ (29พ.ค.58) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 3/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า แนวทางการลงทุนจะต้องส่งเสริมให้ตรงกับสิ่งประเทศไทยต้องการ ซึ่งมี 2 อย่างคือ กิจการที่เป็นของไทยเอง และกิจการที่มาจากการลงทุนต่างประเทศ โดยวันนี้ที่ประชุมได้มีการหารือและดำเนินการให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เช่น ใครได้ทำสัญญาไปแล้วและได้เริ่มปฏิบัติหรือยัง โดยมีทั้งกติกาเก่าก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา และหลังเข้ามา ส่วนวันนี้ที่มีเพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยภาคเศรษฐกิจต้องมองในภาพใหญ่ ซึ่งจะต้องกำหนดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร และต้องมองไปอีก 5-10 ปีข้างหน้าว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเกษตรกรรมอย่างไร ประเทศไทยจะเป็นอุตสาหกรรมหนักหรือไม่ รวมทั้งการลงทุนในชุมชน การลงทุนระดับชาติ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้สั่งการให้มีการนำเรื่องของการจัดตั้งโซเชียล บิสิเนส มาปรับใช้ เช่น หากมีการเข้ามาลงทุนก็ไปส่งเสริมการลงทุนให้ พร้อมกับดูแลในเรื่องการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และเกิดห่วงโซ่ขึ้นด้วย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากถึงเกษตร โดยกล่าวว่าอยากทำทุกอย่างให้กับเกษตรกรแต่ต้องใช้เวลาและขอร้องโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้วัตถุดิบให้มีการแบ่งการดำเนินการเป็นสามสี่ส่วน คือ โรงงานทำครบวงจร และให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก หรือทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยมีการซื้อขายผลผลิตผ่านเกษตรกร ซึ่งทุกคนจะต้องร่วมมือกันและช่วยกันสร้างชาติ

ขณะที่ทางด้าน นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้มีการพิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศในอนาคต โดยเห็นชอบให้มีการเพิ่มมาตรการสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย มาตรการลดต้นทุนการผลิตและมาตรการส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในปัจจุบัน มีเพียงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เพราะต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพในไทยสูงกว่าต้นทุนการผลิตในประเทศคู่แข่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยในส่วนของมาตรการลดต้นทุนการผลิต ที่ประชุมจะมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเรื่องการลดค่าไฟและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บีโอไอลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 90 เป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าจะมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ

ปัจจุบัน ความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าร้อยละ 50 ต่อปี และคาดว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้จะยิ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจากนานาประเทศและผู้บริโภคให้การยอมรับและเลือกใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกได้ และพลาสติกชีวภาพจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศในอนาคตได้

สำหรับพลาสติกชีวภาพ (Bio-plastics) เป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรจากธรรมชาติที่สามารถปลูกขึ้นทดแทนได้ (Renewable resources) เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด น้ำตาล และสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และในการผลิตยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลาสติกชีวภาพ จะส่งผลดีต่อประเทศในหลายด้าน อาทิ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการย่อยสลาย ช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้พลาสติกชีวภาพเป็นวัตถุดิบ ๆได้แก่ การผลิตบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 27,838.4 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.บริษัท สปริงคิทเช่น จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,108 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบทั้งหมด ได้แก่ เนื้อสัตว์ และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก

2.บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,272.1 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ กรุงเทพมหานคร โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร

3.บริษัท เอ็นจีเค เซรามิกส์ ไทยแลนด์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,700 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ

4.บริษัท ไทยโคโคคุ รับเบอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยางสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,298.3 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสระบุรี โดยโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ยางธรรมชาติ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

5.บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตกระดาษคราฟท์ และไฟฟ้าจากถ่านหิน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,830 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยโครงการนี้ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกในประเทศ และใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ เศษกระดาษ ซึ่งเป็นการช่วยบริหารจัดการขยะในประเทศด้วย

โครงการที่ 6 และ 7 บริษัท บ้านโป่ง ยูทิลิตี้ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดราชบุรี

8. บริษัท คลองหลวง ยูทิลิตี้ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,630 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ