ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ อยู่ระหว่างเตรียมจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม ไทย-จีน ครั้งที่ 5 ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนการสำรวจเส้นทาง และประเมินราคาจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ตามแผนที่วางไว้ คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างสาย กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช ได้ภายในปี 2558 ซึ่งรัฐบาลไทย และจีน เห็นตรงกันว่า ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมมือกันด้านการพัฒนารถไฟ เชื่อมโยงภูมิภาคนี้ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค
พลตรีสรรเสริญกล่าวว่า นอกจากทางรถไฟเชื่อมไทย-จีน แล้ว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทย สนใจจะเข้ามาดำเนินโครงการรถไฟในไทย คือ รถไฟเส้นทาง กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญ ประเทศ ระยะทาง 574 กม.และรถไฟฟ้าความเร็วสูง( ชิงกันเซน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 670 กม. โดยรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ MOC ร่วมกันเมื่อวันที่. 27 พ.ค. 2558
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจน ในการให้ความร่วมมือกับ มิตรประเทศ ในการสร้างทางรถไฟ ไทย-จีน และ การลงทุนทางรถไฟของประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง รัฐบาลมั่นใจว่า โครงการต่างๆ จะช่วยอำนวยความสะดวก ในการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th