ในโอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนภารกิจ 8 วาระสำคัญ ดังนี้ 1. การเดินหน้า 8 วาระมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระ “ตามรอยเท้าพ่อ” เพื่อพิทักษ์ เทิดทูน ธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ พร้อมน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ และวาระ “คนไทยรักกัน” ซึ่งเน้นการสร้างความปรองดอง ความรักสามัคคีของคนในชาติ
2. งานบริการประชาชน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ดำรงธรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น งานกองทุนยุติธรรมจังหวัดที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาสทางสังคม การจดทะเบียน SMEs การแก้ไขหนี้นอกระบบ การจัดให้มีศูนย์บริการร่วม (OSS) ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งจะรวมงานบริการ การให้คำแนะนำ และการอนุญาตต่างๆ ไว้ ณ ที่เดียวกัน โดยในส่วนภูมิภาคจะจัดตั้ง ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด รวมทั้งการนำระบบ Application Spond และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนางานบริการให้เข้าถึงประชาชนได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3. งานระหว่างประเทศ/งานชายแดนให้จังหวัดยึดยุทธศาสตร์/นโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ความเป็นผู้นำในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกลไกความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดน – เจ้าแขวง หรือการสถาปนาความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคี เช่น รูปแบบเมืองพี่เมืองน้อง (Sister Cities) เพื่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายสนับสนุนให้มีการเปิดจุดผ่านแดนในพื้นที่ที่มีความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย และเตรียมการปรับปรุงเพิ่มเติมความตกลง การข้ามแดนให้เป็นไปได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงขอให้จังหวัดที่มีความพร้อมได้พิจารณาเสนอขอเปิด/ยกระดับจุดผ่านแดนเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ สำหรับในพื้นที่ที่มีศูนย์พักพิงต่าง ๆ ตามแนวชายแดน ขอให้ดูแลให้เกิดความเรียบร้อยและเกิดความมั่นคง รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในศูนย์พักพิงฯ ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศด้วย
4. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้ได้มีการเตรียมพื้นที่ภาครัฐเพื่อใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคระบบประปาไฟฟ้า โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดเร่งดำเนินการตามแผนการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำประปาสถานีจ่ายน้ำและสถานีจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อรองรับการเข้าดำเนินงานของภาคเอกชน อุตสาหกรรม และให้ความสำคัญกับ “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน” (One Stop Service : OSS) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ โดยเน้นการให้บริการตามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
5. การแก้ไขปัญหาสำคัญเชิงสากล เช่น การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยให้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา IUU Fishing ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ในพื้นที่อย่างเต็มที่ และการดูแลควบคุมการค้าและการครอบครองงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากช้างให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญา CITES ทั้งนี้ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดูแลไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายทุกประเภท
6.การช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ขอให้จังหวัดดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษโดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต ของเกษตรกรและค่าเช่านาให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และขอให้เตรียมจัดทำแผนการกระจายผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ท้องตลาดไปสู่ผู้บริโภคในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิต เช่น การจับคู่จังหวัด การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลาดนัดชุมชน เป็นต้น สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการขอรับความช่วยเหลือของเกษตรและผู้ยากจน ขอให้จังหวัดตรวจสอบและทบทวนแผนงาน/โครงการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยในทุกขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมช่องทางหรือพื้นที่การลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เช่น การสร้างตลาดชุมชน การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP เป็นต้น รวมทั้งการดำเนินการตามที่คณะอนุกรรมการจัดที่ดินและคณะอนุกรรมที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อจัดที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
7. การสร้างระบบจัดการขยะ โดยในส่วนของการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามที่รัฐบาลได้มอบหมายมีผลความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้และจะต้องเดินหน้าเรื่องนี้เพื่อขยายผลไปสู่การจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่นำร่อง (นครปฐม สระบุรี และลพบุรี) ได้ดำเนินการตาม Roadmap ที่ได้ปรับแผนปฏิบัติการไว้ให้เป็นไปตามที่กำหนด
8. การจัดระเบียบและภูมิทัศน์เมือง เช่น การจัดระเบียบทางเท้าและพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาเส้นทางจักรยาน (Bike Lane) ระยะที่ 2 การจัดระเบียบสวนสาธารณะสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ สวนจตุจักร และสวนรถไฟ รวมไปถึงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
โดยในส่วนของจังหวัดขอให้นำรูปแบบการจัดระเบียบทางเท้าและพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาเส้นทางจักรยานของกรุงเทพมหานครไปปรับใช้ในพื้นที่ตามความเหมาะสม และกำชับองค์กรปกครองท้องถิ่นให้ดูแลการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สวนสาธารณะให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น มีเส้นทางเดิน - วิ่ง เส้นทางจักรยาน สถานที่ออกกำลังกาย ดูแลรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเรื่องของผังเมืองรวมจังหวัด ขอให้กำชับ/เร่งรัดให้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม นี้ สุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ทุกระดับ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันทำงานเชิงรุกเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th