จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (ministerial roundtable) และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Balancing the three dimensions of sustainable development: for integration to implementation” หรือ “การสร้างความสมดุลในมิติทั้งสามด้านของการพัฒนาที่ยั่งยืน จากการบูรณาการสู่การนำไปปฏิบัติ” เพื่อนำเสนอแนวนโยบายของประเทศไทยในการบูรณาการสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในฐานะตัวแทนของประเทศไทยที่ได้นำเสนอประสบการณ์ด้าน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้งสองด้านมีจุดประสงค์เดียวกันคือ “มุ่งสร้างทุนมนุษย์” การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นำมาใช้ในรูปแบบของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ทำให้เห็นถึงทิศทางของประเทศไทยซึ่งมีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของ “ทุนมนุษย์” เป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนของสังคม และสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรในทุกมิติ ภาครัฐรวมทั้งกระทรวงมหาดไทยจึงได้พยายามที่จะออกแบบนโยบายให้สอดรับและสอดคล้องกับแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงให้มากที่สุด จากคำขวัญ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สะท้อนงานพัฒนาสังคมทั้งในการบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลาง จังหวัด และท้องถิ่นอย่างยุติธรรม การดูแลความสงบเรียบร้อย ฐานข้อมูลประชากร การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งงานบริหารจัดการพื้นที่ทำกินและผังเมือง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน 3 ด้าน ดังนี้
ประการแรก ด้านเศรษฐกิจ การขจัดความยากจนและการพัฒนาการแบบองค์รวม โดยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการยกระดับเศรษฐกิจรากหญ้าให้มีพื้นที่ในเวทีเศรษฐกิจโลก มีสาธารณสุขพื้นฐานที่ดี เพื่อขจัดความยากจน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการในหลายด้าน เช่น การจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มุ่งสร้างเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ส่งเสริมช่องทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายชุมชนเศรษฐกิจเข้มแข็งในระดับภูมิภาค ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจนต้องปรับรูปแบบตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ตายตัว เพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหานั้นๆ อย่างดีที่สุด
ประการที่สอง ด้านสังคม การทำให้ทุกคนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยสร้างฐานข้อมูลสถิติชีพที่มีคุณภาพสำหรับการพัฒนาประชากรและเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ เพื่อการวางแผนและตัดสินใจสำหรับผู้ทำงานนโยบาย เพื่อให้นโยบายมีประสิทธิภาพและไปถึงผู้รับได้โดยตรง เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกันเชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อระบุสาเหตุการตายที่เชื่อถือได้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการสร้างนโยบายเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชานในอนาคต ประการที่สาม ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการและการลดภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคือหลักประกันพัฒนาการในทุกด้านที่กล่าวมา เพื่อฟื้นกลับและลดความสูญเสียเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น นอกจากศูนย์ข้อมูลจากส่วนกลางแล้วยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติระดับชุมชนขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนของเราเข้มแข็งและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
และสุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สรุปถึงคุณค่าของการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย ในการสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกหลานในการใช้ชีวิตในอนาคตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทรัพยากรอย่างพอเพียงบนความเป็นอยู่ที่พอเพียงอย่างยั่งยืน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th