พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่าประเทศไทยจะเป็น Gate way สู่ภูมิภาคอาเซียน ส่วนปากีสถานจะเป็น Gate Way สู่ เอเชียกลาง อัฟกานิสถาน และตะวันออกกลาง ความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องความเชื่อมโยงทางการขนส่งขณะนี้รัฐบาลได้ลงนามสร้างรถไฟเชื่อมเหนือ สู่ใต้ จากจีน(ตอนใต้) - สปป.ลาว - ไทย – (จากหนองคาย-กรุงเทพ) -มาเลเซีย ส่วนทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) มี 2 เส้นทางคือ ด้านบน จากพม่า –แม่สอด(จ.ตาก) - กำแพงเพชร – นครสวรรค์ - มุกดาหาร - สปป.ลาว - เวียดนาม และเส้นทางด้านล่าง จากท่าเรือน้ำลึกทวาย พม่า –ท่าเรือแหลมฉบัง โดยผ่านด่านบ้านพุน้ำร้อน – กาญจนบุรี – ราชบุรี – นครปฐม –สมุทรสาคร - กรุงเทพ – สมุทรปราการ – ฉะเชิงเทรา – ชลบุรี – ท่าเรือแหลมฉบัง (สามารถแยกจากจ.ฉะเชิงเทรา ไปสระแก้ว – อรัญประเทศ – กัมพูชา ได้) ซึ่งจากท่าเรือทวายก็สามารถจะเชื่อมถึงปากีสถานได้
โดยโครงการนี้จะเริ่มในปี 2558 และจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยจะเป็นประตูสู่ จีน เมียนมาร์ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากการค้าแล้ว รัฐบาลก็ยินดีต้อนรับนักลงทุนด้วยด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปากีสถาน เห็นว่าขณะนี้ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมและลงตัวในการเจรจา FTA เพราะจะช่วยให้ภาคธุรกิจ 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ในการทำการค้ากันเร็วขึ้น ซึ่ง FTA จะสร้างสัมพันธ์กันทางการค้าในระยะยาว และเป็นรากฐานที่ยั่งยืนด้านอื่นๆด้วย สำหรับปากีสถานนั้นขณะนี้ได้ทำกับ จีน มาเลเซีย ศรีลังกา ส่วนไทยจะเป็นชาติที่ 4 โดยฝ่ายไทยนั้นมีความได้เปรียบเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ยางพารา ส่วนปากีสถานมีความได้เปรียบเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งนักธุรกิจ 2 ฝ่ายสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ระหว่างกันได้ และยินดีที่จะจัด Business Conference ให้กับนักธุรกิจ 2 ฝ่าย ซึ่งทราบว่าสภาธุรกิจ ไทย- ปากีสถาน และสภาธุรกิจ ปากีสถาน- ไทยมีความเข้มแข็ง และมีการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนการค้าระหว่างกันสม่ำเสมอ สำหรับสถิติการค้าไทยกับปากีสถานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) มีมูลค่าเฉลี่ย 994.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าปากีสถานเฉลี่ยปีละ 777 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ โดยไทยนำเข้าสินค้าจากปากีสถานเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 40.86 ในขณะที่การส่งออกของไทยไปยังปากีสถานลดลง ร้อยละ 6.38 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มว่าในอนาคตการค้าทั้งสองฝ่ายของสองประเทศจะมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังให้สิทธิพิเศษทางภาษี GSTP แก่ประเทศกำลังพัฒนา 43 ประเทศรวมทั้งปากีสถานด้วย อีกทั้งยังเห็นว่าจะเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญด้วย ซึ่งการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะส่งผลให้การนำเข้าจากปากีสถานเพิ่มสูงขึ้นไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th