ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วท. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นเรื่องสำคัญที่นานาประเทศต่างมุ่งมั่นที่จะเตรียมตัวเพื่อรับมือกับภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะภัยด้านน้ำ หากสามารถรู้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศก่อน เพื่อนำไปใช้ติดตามและคาดการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์หรือภัยธรรมชาติที่จะมาถึง จะช่วยลดหรือบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันประเทศในอาเซียนต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ อาทิ ในปี 2557 มีพายุ 30 ลูก เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียน มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 8.38 พันล้านดอลลาร์ และรวมทั้งในประเทศไทย เป็นปีที่น้ำเค็มรุกมากที่สุด ประกอบกับปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์มีน้อยมาก ทำให้เกิดผลกระทบน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่การเกษตร และการผลิตน้ำประปา
“นับเป็นความโชคดีที่ทุกประเทศในประชาคมอาเซียนสนใจที่จะเข้ามาร่วมกันหารือในเรื่อง การบริหารจัดการน้ำ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติที่ดี และนำไปใช้ประโยชน์สามารถขยายผลได้ ไปจนถึงการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่อง กฎระเบียบ การบริหารจัดการองค์กร และเทคโนโลยี ที่สำคัญอยากให้การประชุมในครั้งนี้ เกิดฉันทามติในการจัดทำเว็บไซต์แต่ละประเทศที่สอดคล้องกัน ซึ่งประเทศไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วคือ www.thaiwater.net หากมีเป็นมาตรฐานเดียวกันครบทุกประเทศ จะช่วยเหลือและเตือนภัยซึ่งกันและกัน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น” ดร.พิเชฐ กล่าว
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สสนก. กล่าวว่า สสนก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของไทย ในเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้ 1 ใน 8 ข้อ ของข้อริเริ่มกระบี่ โดยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology: IAMMST) ครั้งที่ ๖ และการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ ๖๐ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ณ จังหวัดกระบี่ ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น รัฐมนตรีอาเซียนได้เห็นชอบข้อริเริ่มกระบี่ (Krabi Initiative) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปี ๒๕๕๘-๒๕๖๓ (ASEAN Plan of Action on Science, Technology and Innovation : APASTI 2015-2020) จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Asean WaterManagement System หรือ ระบบบริหารจัดการน้ำของอาเซียนในครั้งนี้ขึ้น
ทั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันเป็นคณะทำงานเพื่อพัฒนาข้อมูลน้ำ และสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นวาระเร่งด่วนของหลายประเทศในอาเซียน หันมาเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงได้ร่วมมืออาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์,เวียดนาม และไทยจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาข้อมูลน้ำ เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแบ่งปันข้อมูลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ข้อมูลโดย : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.)
ข่าวโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพและวีดีโอ : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร, นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727-3732 โทรสาร 02 333 3834 E-Mail : pr@most.go.th facebook : sciencethailand
เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727-3732 โทรสาร 02 333 3834 E-Mail : pr@most.go.th facebook : sciencethailland
ที่มา: http://www.thaigov.go.th