วันนี้ (5มิ.ย.58) เวลา 13.00 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการสัมมนา เรื่อง “บทบาทและหน้าที่กรรมการรัฐวิสาหกิจ” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่กรรมการรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ จัดโดยกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยมี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารกระทรวงการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานฯ ว่า การบริหารงานรัฐวิสาหกิจให้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมายของรัฐบาลถือเป็นภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 56 แห่ง ในทุกภาคเศรษฐกิจและสังคมรวม 9 สาขา ได้แก่ สาขาขนส่ง พลังงาน สื่อสาร สาธารณูปการ อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและเทคโนโลยี และสถาบันการเงิน ซึ่งรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น ประมาณ 12 ล้านล้านบาท มีรายได้ประมาณ 5 ล้านล้านบาทต่อปี และมีกำไรประมาณ 3 แสนล้านบาท นำส่งเงินให้รัฐประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และมีการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท จากบทบาทและพลังรัฐวิสาหกิจดังกล่าว รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ โดยได้กำหนดเป็นนโยบายด้านการพัฒนารัฐวิสาหกิจไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส การกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขและฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาในการดำเนินงานรวมทั้งปัญหาในด้านการเงิน ซึ่งรัฐบาลได้แต่ตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มาทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ โดยระยะเริ่มต้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือชูปเปอร์บอร์ด ต่อมาเมื่อมีรัฐบาลคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทั้งนี้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ได้เนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งได้มีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ การนำระบบธรรมาภิบาลมาใช้กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส การจัดตั้งองค์กรเจ้าของเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจ การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเสริมสร้างในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ ในการนี้เพื่อพัฒนากลไกในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็งและเป็นไปอย่างยั่งยืน กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง “บทบาทและหน้าที่กรรมการรัฐวิสาหกิจ” ซึ่งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจถือเป็นตัวแทนของเจ้าของคือภาครัฐในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายการบริหารองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ได้มาพบปะกับกรรมการรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงานอีกครั้ง เพื่อถ่ายทอดความตั้งใจและความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วันนี้บ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติคือเราจำเป็นต้องสร้างและวางรากฐานของประเทศให้ได้เพื่อวันข้างหน้าจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ก็เพื่ออนาคตของประชาชนและประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมายืนในบทบาทของนายกรัฐมนตรี ก็จำเป็นที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกคนในเรื่องทิศทางการทำงานระหว่างรัฐบาลกับบุคลากรในรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ซึ่งรัฐมีส่วนในการเป็นเจ้าของด้วย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการภาครัฐและมีการดำเนินการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติ เพราะขณะนี้ประเทศชาติและเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับที่จะต้องได้รับการเอาใจใสดูแลปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นเศรษฐกิจในลักษณะที่จะต้องพร้อมกับการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพประเทศให้ได้ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนให้กว้างขวางมากขึ้น
อย่างไรก็ตามไม่ต้องการให้ความร่ำรวยหรือผลประโยชน์ที่ตอบแทนมาจากการบริหารกิจการต่าง ๆ เหล่านั้น ไปตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันดูแลคนมีรายได้น้อยหรือระดับล่างซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนและอย่าคิดว่าธุระไม่ใช่ หรือไม่เกี่ยว ทั้งนี้การที่ประเทศชาติเกิดปัญหาและความวุ่นวายก็เพราะบุคคลเหล่านั้นยังลำบากและยากจน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมไม่ทั่วถึง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมและประเทศชาติ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่งแต่ทุกคนในชาติจะต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำกันในวันนี้ก็เพื่อจะแก้ไขปัญหาความบกพร่องในอดีตและทำปัจจุบันให้เป็นอนาคต เตรียมความพร้อมสำหรับคนรุ่นหลังในวันหน้า
สำหรับในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญของประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะอยู่ในการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ วันนี้ได้มีการปรับรูปแบบการทำงานและการลงทุน เป็นลักษณะการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน โดยไม่ใช่ภาครัฐลงทุนฝ่ายเดียว ซึ่งในวันข้างหน้ารัฐจะต้องอยู่ในบทบาทที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ดูแลเรื่องกฎหมาย และให้การสนับสนุนเอกชนในการประกอบการ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามดูแลเกษตรกรทุกภาคส่วนทั้งชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันก็จะทำได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม และจะกลับมาสู่สังคมความเป็นคนไทยที่มีความเป็นปกติสุขที่ไม่ใช่สังคมที่เจริญไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลเพียงอย่างเดียวแต่จิตสำนึกของคนลดลง เพราะฉะนั้นการทุกคนต้องช่วยกันสร้างการปลูกจิตสำนึกและทำเพื่อส่วนรวม
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันถึงความตั้งใจจริงในการที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยความร่วมมือของคนไทยทุกคน และศักยภาพของบุคลากรของรัฐวิสาหกิจทุกคน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ประเทศชาติสามารถที่จะฟื้นขึ้นมาได้ในระยะสั้นก็คือ การใช้จ่ายในภาครัฐในการลงทุนและการเบิกจ่ายการลงทุนต่าง ๆ เพื่อสร้างงานและผลตอบแทนในธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด และการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ด้วยความมีเหตุมีผลในการคิดและฟัง ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ดีขึ้น ทั้งการมีจิตสำนึกและอุดมการณ์ชาติร่วมกันให้ได้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
ส่วนนโยบายในเรื่องของการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ชัดเจนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการปรับปรุงและจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมาโดยลำดับอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและเป็นไปอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถเสนอข้อคิดเห็นผ่านทาง คนร.หรือกระทรวงการคลังให้นายกรัฐมนตรีรับทราบได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการวันนี้ก็คือการทำให้การบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นที่เชื่อมั่นและเชื่อถือของภาครัฐ และประชาชน ตลอดจนผู้ถือหุ้นในองค์กรของรัฐวิสาหกิจเอง เพราะฉะนั้นผลประกอบของทุกรัฐวิสาหกิจในยุคนี้จะต้องสามารถชี้แจงถึงสาเหตุและปัญหาที่เกิดขึ้นได้ อย่าปล่อยให้ผลประกอบการออกมาเป็นเช่นเดิมเหมือนที่ผ่านมาแล้วรัฐบาลจะต้องมารับผิดชอบในการอุดหนุนงบประมาณโดยตลอด ซึ่งหากทุกคนไม่ช่วยกันดำเนินกิจการให้ดีขึ้นก็ไม่สมควรที่จะได้รับรางวัล ดังนั้นทุกคนจะต้องสร้างวัฒนธรรมในองค์กรคือการทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ เป็นองค์กรที่มีจริยธรรม ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความน่าเชื่อถือจากสังคม เพราะสิ่งที่มีปัญหาในปัจจุบันคือความเชื่อมั่นของสังคมโดยถูกปลุกระดมให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน และไม่เชื่อมั่นในกระบวนการทางกฎหมาย ระบอบประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ตำรวจ และทหาร สิ่งเหล่านี้ถูกทำลายอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติจนทำให้ประเทศชาติเสียหายมาถึงวันนี้ จึงเป็นเหตุผลความจำเป็นที่ทำนายกรัฐมนตรี มายืนตรงจุดนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจว่า นอกจากบทบาทในการจะต้องแสวงหาผลกำไร เพื่อการลงทุนและขยายกิจการในการนำส่งรายได้เข้าประเทศแล้ว สิ่งสำคัญคือการดูแลและให้การบริการประชาชน เพราะรัฐวิสาหกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของประชาชนทุกเรื่อง ทั้งเรื่องไฟฟ้า ประปา พลังงาน ฯลฯ ดังนั้นจะต้องหาแนวทางในการดำเนินการที่จะไม่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งจะต้องร่วมมือร่วมใจรวมเป็นหนึ่งเดียวในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศและองค์กร สามารถดูแลประชาชนให้มีความสุขและพึงพอใจ
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการกำหนดนโยบายและกรอบการบริหารงานรัฐวิสาหกิจในระยะยาวของ คนร. ซึ่งจะส่งต่อไปถึงรัฐบาลชุดหน้า ประกอบด้วย 1) การกำหนดเป้าหมายของการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนให้รัฐวิสาหกิจทำพันธกิจหลักที่ควรทำอย่างมีบูรณาการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศระยะ 5 ปี มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และมีความสำเร็จที่ยั่งยืน ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และบริหารทรัพย์สินของประเทศ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้จะถูกกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจของประเทศ แผนนี้จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน แห่งใดควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพ แห่งใดควรปรับบทบาทให้เหมาะสม และแห่งใดควรลดบทบาทลง จะถูกกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจนี้ 2) มีการกำหนดบทบาทความสัมพันธ์ของการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ชัดเจน 3) การจัดตั้งองค์กรเจ้าของขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง โดยจะทำหน้าที่ดูแลฐานะการเงินและความสำเร็จขององค์กร 4) การออกกฎหมายการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ โดยภายในปี 2558 นี้ รัฐบาลจะออกกฎหมายการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง โดยจะมีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ โฮลดิ้ง คอมปานี เพื่อทำหน้าที่องค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจ กำกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)
ขณะที่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก็จะเพิ่มบทบาทให้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจะนำระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) มาใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งทั้ง 56 แห่ง เริ่มตั้งแต่การให้รัฐวิสาหกิจต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาองค์กรระยะ 5 ปี การสรรหาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจากระบบการคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ในการเข้ามาบริหารรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง
สำหรับการปรับโครงสร้างรวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันนั้น สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องเรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และ Digital economy เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังขาดการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล่วงหน้าทำให้เตรียมตัวรองรับกับสิ่งหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ทัน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อประชาชนจะได้เตรียมความพร้อมและให้การสนับสนุนในกิจกรรมหรือโครงการที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตามการดำเนินต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจจึงต้องมีการเตรียมแผนหรือแนวทางอื่นไว้รองรับด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมทั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจด้วยดีในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและในอนาคต เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อส่วนรวม สังคมและประเทศชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะได้ร่วมกันทำหน้าที่ในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจไทยให้มีประสิทธิภาพสูง และร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ และร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th