รองศาสตราจารย์ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษา ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๑๙ –๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งถือเป็นการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในด้านการศึกษาที่จัดขึ้นทุก ๑๐ –๑๕ ปี เพื่อประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งได้กำหนดไว้ครั้งแรกในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ที่จอมเทียน ประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐ และได้มีการประเมินความก้าวหน้าไปเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๐ ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล โดยได้กำหนดเป้าหมายจากการดำเนินการไว้ในปี ๒๐๑๕
สรุปผลการเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษา
ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี
รองศาสตราจารย์ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษา ณ เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๑๙ –๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งถือเป็นการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในด้านการศึกษาที่จัดขึ้นทุก ๑๐ –๑๕ ปี เพื่อประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งได้กำหนดไว้ครั้งแรกในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ที่จอมเทียน ประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐ และได้มีการประเมินความก้าวหน้าไปเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๐ ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล โดยได้กำหนดเป้าหมายจากการดำเนินการไว้ในปี ๒๐๑๕
การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการทบทวนการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอีก ๑๕ ปี ข้างหน้า ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดจากประเทศสมาชิกยูเนสโกทั้งหมด ๑๙๕ ประเทศ มีผู้เข้าประชุมทั้งหมด ๑,๕๐๐ คน ซึ่งทำให้เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ที่สหประชาชาติจะได้พิจารณากำหนดอย่างเป็นทางการจะประกอบด้วยเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา อยู่ในเป้าหมายที่ ๔ “การศึกษาสำหรับทุกคนอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันและการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อปวงชน”
ที่ประชุมได้ให้การรับรองปฏิญญาอินชอนว่าด้วยการศึกษา ปี ค.ศ.๒๐๓๐ ซึ่งมุ่งให้ทั่วโลกจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงการให้การศึกษากับทุกคน (inclusive)การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกัน และการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งถือว่าความสำเร็จเกิดจากนโยบายและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ในปฏิญญาดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้ภาคการศึกษาให้มากขึ้น โดยกำหนดให้อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ ๔ – ๖ ของ GDP หรือ ร้อยละ ๑๕ – ๒๐ ของงบประมาณประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ทั้งนี้เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ แล้วยูเนสโกจะดำเนินการจัดทำกรอบการดำเนินงานรองรับการดำเนินงานด้านการศึกษาให้บรรลุตามเป้าหมายภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ต่อไป
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ มีการอภิปรายในแต่ละหัวข้อที่สนับสนุนการจัดการศึกษาในในช่วง ๑๕ ปีข้างหน้า และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
๑. การเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยก่อนเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา ซึ่งควรกำหนดให้การศึกษาปฐมวัยหรืออนุบาลเป็นการศึกษาภาคบังคับอย่างน้อย ๑ ปี และกำหนดให้แต่ละประเทศจัดการศึกษาภาคบังคับอีก อย่างน้อย ๙ ปี รวมมีการศึกษาภาคบังคับ ๑๐ ปี โดยมีการนำเสนอตัวอย่างของประเทศที่ได้ดำเนินการในหลายๆ ประเทศ เช่น ในแอฟริกาบางประเทศ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลของตนได้จัดสรรงบประมาณให้เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เข้าเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และตัวอย่างที่ถือว่าประสบผลสำเร็จ คือ การที่รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีได้ริเริ่มใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ซึ่งเรียกว่า หลักสูตร NURI (ภาษาเกาหลี แปลว่า โลก) ในศูนย์เลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัย เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) โดยในช่วงเริ่มแรกได้ให้การสนับสนุนงบประมาณกับเด็กอายุ ๕ ปี ที่อยู่ในครอบครัวของผู้มีรายได้น้อย (ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ของรายได้เฉลี่ย) และปัจจุบันจัดสรรงบประมาณรายหัวให้เด็กทุกคนในช่วงวัย ๓ –๕ ปี ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นการสอนให้เด็กมีพัฒนาการในเรื่องทักษะชีวิต และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับหลักสูตรระดับชาติ ในสาขาที่สำคัญ ๕ สาขา คือ สุขอนามัย การสื่อสาร การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ศิลปะ และการสร้างประสบการณ์ให้รู้จักค้นคว้าสำรวจ
๒.การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญและผสมผสานการดำเนินหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า จากการประเมินผลการจัดการศึกษาในช่วง ๑๕ ปี ที่ผ่านมา ตัวเลขของเด็กที่เข้าเรียนจะสูงขึ้นก็ตาม แต่ ยังมีเด็กอีกประมาณ ๒๕๐ ล้านคน ที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้จะได้เข้าเรียน และในจำนวนนี้ จะเห็นว่ามีจำนวนถึง ๒๐๐ ล้านคนที่ออกกลางคัน ทำให้ไม่สามารถได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นการจัดการศึกษาในช่วง ๑๕ ปี ต่อไป จะต้องคำนึงถึงเรื่องของคุณภาพการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับชุมชนของผู้เรียน และจะต้องมีการจัดการศึกษาทางเลือกต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งคุณภาพการศึกษาที่กล่าวถึงจะต้องมีความหลากหลาย และเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของกลุ่มคนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มให้ได้ ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะต้องคำนึง ถึงวิธีการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร สื่อและตำราเรียน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ระบบการประเมินผล และการพัฒนาครู รวมทั้งการให้การศึกษากับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย
๓. การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกที่ดี ถือเป็นเรื่องที่การจัดการศึกษาในช่วง ๑๕ ปีต่อไปจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากถึงแม้ว่าการศึกษาจะไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่การศึกษาช่วยพัฒนาคน และคนจะสามารถปรับเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่มากขึ้นได้ และหากคนมีการศึกษาที่สอนให้คนรู้จักการพัฒนาที่เป็นประโยชน์และยั่งยืนได้ จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในโลกดีขึ้นได้ ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก และจะทำให้เด็กรู้จักการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในทางที่ก่อประโยชน์มากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงการสร้างความสมดุลระหว่างการแข่งขัน (Competitiveness) และการสร้างความสามัคคี (Solidarity) เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันมากขึ้น ทั้งนี้ เรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกที่ดี (Global Citizenship Education : GCE) เป็นเสาหลักหนึ่งของ Global Education First ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่คำนึงถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อให้เกิดสังคมที่สันติสุข ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
๔.การเพิ่มงบประมาณลงทุนด้านการศึกษา ในการประชุมครั้งนี้มีการอภิปรายถึงเรื่องการลงทุนด้านการศึกษาอย่างกว้างขวาง และหลายคนเห็นว่าควรมีการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มากขึ้น และสะท้อนแนวคิดดังกล่าวไว้ในปฏิญญาอินชอน (Incheon Declaration) ว่ารัฐควรจะจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาประมาร้อยละ ๔ – ๖ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ(Gross Domestic Products : GDP) หรือประมาณร้อยละ ๑๕ – ๒๐ ของงบประมาณของประเทศ และมีผู้เสนอให้จัดตั้งกองทุนโลกว่าด้วยการศึกษา (Global Education Fund) เพื่อช่วยสนับสนุนประเทศที่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มเติมได้เนื่องจากเห็นว่าหลายประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนายังไม่ได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้การศึกษามากนัก รวมถึงมีแนวคิดว่า การจัดสรรงบประมาณให้ภาคการศึกษาควรจะต้องรวมถึงการวางแผนใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
๕.การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ยูเนสโกและหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติได้พัฒนากลไกการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาในระดับโลกมาโดยตลอดด้วยการจัดทำรายงานติดตามผลในระดับโลก (Global Monitoring Report) เป็นประจำทุกปี และมีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าระดับชาติและภูมิภาคตามลำดับ เพื่อทำให้เห็นพัฒนาการเป็นระยะ ซึ่งในช่วง ๑๕ ปีต่อไป ก็ควรจะมีการจัดทำการประเมินติดตามผลเป็นระยะเช่นเดิม ดังนั้นรายงานในระดับโลกก็ควรจะปรับเป็น Global Education Monitoring Report) ส่วนการดำเนินการติดตามในระดับชาติ ควรขอให้ประเทศต่างๆ กำหนดแนวทางตามกลไกของตนได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่จะต้องจัดเก็บข้อมูล และทำการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสประชุมหารือกับผู้แทนธนาคารโลก คือนายอามิต ตาร์ผู้อำนวยการด้านการศึกษา ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งเห็นว่าธนาคารโลกอาจให้การสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบของไทยได้ ซึ่งนายอามิต ตาร์ได้ตอบรับว่าธนาคารโลกมีความพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องดังกล่าว และยินดีที่จะเข้ามาช่วยในการจัด Workshop ต่างๆ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป
จากการประชุมครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าประเทศต่างๆ มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาของตนให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และให้ความสำคัญในการสร้างคน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนมากขึ้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างความสำเร็จต่างๆ เป็นไปในลักษณะของการคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันมากขึ้น ไม่ใช่การลอกเลียนแนวทางที่ประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จไปดำเนินการเต็มรูปแบบที่ประชุมให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษากับกลุ่มคนทุกกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยพิบัติจากความขัดแย้ง กลุ่มที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน
สำหรับข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยอาจดำเนินการได้ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่จะแบ่งปันระหว่างประเทศสมาชิกยูเนสโกแล้ว ยังเป็นการจัดทำข้อมูลการพัฒนาการศึกษาที่เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ
ข้อมูล / สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ.
รายงาน / กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th