ในการประชุมดังกล่าวได้หารือกันในประเด็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมของประเทศไทยที่นำไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจของการปฏิรูป วทน. เพื่อให้นำประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี 2026 เช่น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการจัดมาตรการจูงใจกระตุ้นนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการ การจัดทำกฎหมายเพื่อวางระบบนวัตกรรมของประเทศที่จะเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป และการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขายุทธศาสตร์และโครงการลงทุนขนาดใหญ่
ทั้งนี้ จะมีการพัฒนา 1) พัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Strategic Industry) และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega Projects) ที่เน้นกำลังคนระดับสูง ช่างเทคนิคสมรรถนะสูง 2) แนวทางการให้ทุน เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคน วทน. 3) การต่อยอดโครงการพัฒนากำลังคน วทน. ที่มีอยู่ เช่น โครงการมหิดลวิทย์ วมว., ทุน วท., ทุน พสวท., ทุน สกอ., โดยเดินหน้าการขับเคลื่อนนักเรียนทุน (mobilization) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน รวมทั้งนโยบายที่เชื่อมรอยต่อระหว่างการศึกษาและการทำงาน 4) กลไกใหม่ในการพัฒนากำลังคน วทน. เช่น นร.ทุน PPP ภาครัฐที่เข้าทำงานในภาคเอกชน 4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เพื่อรองรับความท้าทายในด้านต่างๆ ในสังคมผู้สูงอายุ สังคมดิจิทัล และการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
ด้านประเด็นการหารือนโยบายด้านการพัฒนากำลังคน วทน. ดังนี้
1. การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน รวมทั้งนโยบายที่เชื่อมรอยต่อระหว่างการศึกษาและการทำงาน
การลดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน
การขาดแคลนกำลังคนที่สอคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
กลไกเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุนในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคเอกชน
2. กลไกการขยายผลโครงการที่ประสบความสำเร็จออกไปในวงกว้าง
พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่มีการรายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีหลักฐานชัดเจน ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ระบบการบริหารจัดการฐานข้อมูล เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน (ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน)
สร้างระบบการติดตามและประเมินผลที่ประกอบด้วยหลักฐานที่ชัดเจน มีความน่าเชื่อถือสอดคล้องกับเป้าหมายโครงการ
3. มาตรการสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ
บุคลากรผู้สอนในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา พบว่า มีจำนวนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการจำนวนมาก ขณะที่มีจำนวนบุคลากรผู้สอนรุ่นใหม่ค่อนข้างน้อย ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะเหลือแต่บุคลากรผู้สอนรุ่นใหม่ที่ขาดประสบการณ์ทั้งด้านการสอนและการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม
4. มาตรการสร้างความตระหนักและค่านิยมในสายอาชีพด้าน วทน.
จำนวนนักเรียน STEM ลดน้อยลง สวนทางกับการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมที่ต้องใช้แรงงาน STEM เพิ่มขึ้น
ให้มีกลไกดำเนินการสื่อสาร สร้างความรู้และตระหนักอย่างต่อเนื่อง ถึงความสำคัญของอาชีพ STEM ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จนสามารถนำไปสู่ค่านิยมใหม่ในสังคมไทยที่ยกระดับคุณค่าสาขาอาชีพ STEM ได้
ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และ นายรัฐพล หงสไกร
เผยแพร่ข่าว : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th