กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพความเสียหายของถนนและประชุมหารือร่วมกับ อบจ.ปทุมธานี อบต.บึงหา ตลอดจนประชาชนผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของการให้บริการสาธารณะด้านงานทางให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว
จากการตรวจสอบและวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้นของปัญหาถนนทรุดตัวบริเวณคันคลอง พบว่า อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการร่วมกัน ทั้งจากความไม่มั่นคงแข็งแรงของสภาพโครงสร้างทางที่เกิดจากดินฐานรากของโครงสร้างทาง ซึ่งมักจะใช้ดินที่ได้จากการขุดคลองมาทำการก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวมีกำลังรับแรงต่ำ และมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานถนนคันคลอง ซึ่งเดิมได้ออกไว้เป็นถนนสำหรับการบำรุงรักษาคลองชลประทาน หรือถนนที่ใช้ขนส่งพืชผลทางการเกษตรที่มีปริมาณการจราจรไม่สูงนัก แต่ในปัจจุบัน มีการขยายตัวของเมืองและชุมชน ทำให้สภาพการใช้ที่ดินบริเวณข้างทางริมฝั่งคลองได้เปลี่ยนแปลงไป อปท. และกรมทางหลวงชนบทได้พัฒนาปรับปรุงพื้นทางและผิวทางจากผิวทางลูกรังเป็นผิวทางราดยางมะตอย เพื่อแก้ปัญหาความขรุขระและฝุ่นจากถนนลูกรังเดิม รองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการทรุดตัวในลักษณะการเลื่อนตัวของโครงสร้างทางลงไปในคลอง มีสาเหตุสัมพันธ์กับฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของระดับน้ำในคลอง ในช่วงที่น้ำในคลองจะลดลงอย่างรวดเร็ว น้ำใต้ดินบริเวณใต้ผิวถนนบริเวณริมตลิ่งจะพยายามดันตัวลงตาม ส่งผลให้ดินฐานรากของโครงสร้างทางเลื่อนลงไปในคลองที่อยู่ต่ำกว่า ประกอบกับมีการรบกวนความชันของลาดคันคลองที่เกิดจากการกัดเซาะโดยธรรมชาติหรือมีการขุดเจาะ เมื่อความชันสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง โครงสร้างทางจะไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ ก็จะทำให้เกิดการเลื่อนตัวของโครงสร้างทาง ส่งผลให้ผิวทางยุบตัวตามลงมาด้วย
ในการนี้ ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของกรมทางหลวงชนบทได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยในเบื้องต้นได้แนะนำวิธีการป้องกันและการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจะเกิดปัญหาถนนทรุดตัวให้กับ อปท. พร้อมทั้งได้สนับสนุนทางด้านวิชาการ การออกแบบแก้ไขปัญหาโดยการเจาะสำรวจ เพื่อเก็บตัวอย่างดินในแต่ละระดับความลึก เพื่อนำไปวิเคราะห์เสถียรภาพ ความมั่นคงแข็งแรง และการออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาถนนทรุดตัว ตลอดจนเสนอแนะให้ อปท. ที่รับผิดชอบถนนสายต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงในการทรุดตัวให้ระมัดระวังในการขุดลอกคลอง เนื่องจากน้ำหนักเครื่องจักรกลที่ใช้ในการขุดลอกคลองทำให้ความลาดชันของคลองสูญเสียความมั่นคงแข็งแรง เป็นสาเหตุที่ทำให้ถนนทรุดตัว ซึ่งควรใช้มาตรการทางกฎหมายกำกับน้ำหนักรถบรรทุก พร้อมทั้งการติดตั้งป้ายเตือนอันตรายให้กับผู้ที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และหากประชาชนพบเห็นรอยแยกบนผิวทางจราจร หรือคันทาง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า อาจเกิดการเลื่อนตัวหรือทรุดตัว ขอให้รีบแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันแก้ไขให้ทันท่วงทีต่อไป
ที่มา : กรมทางหลวงชนบท
ผู้เสนอ : กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th