ยุทธศาสตร์การปฏิรูปท่องเที่ยวไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 3, 2015 16:26 —สำนักโฆษก

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์การปฏิรูปท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2558-2560” เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลี่ย์ ประตูน้ำ เพื่อปรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเน้นสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการด้านการท่องเที่ยวเข้าร่วมระดมความคิดเห็น

รมว.กก. ได้กล่าวแก่ผู้เข้าร่วมประชุมว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวในทุกระดับรวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และผลักดัน การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การบูรณาการ และบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันตามมาตรฐานระดับสากล

การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย เป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับการดำเนินงานในหลายมิติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลหลายหน่วยงาน ดังที่สะท้อนในแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ฉบับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามการผลักดันงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และยังขาดแนวทางในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลปัจจุบัน ได้มีนโยบายในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปที่เน้นให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐในทุกระดับทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับท้องถิ่น โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปอย่างแท้จริง มีการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใสเป็นธรรม

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปการท่องเที่ยวไทย พ.ศ.2558-2560 เพื่อปรับยุทธศาสตร์ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง โดยในวันนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นใน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านการตลาด 2) ยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว และ 3) ยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านการบริหารจัดการ เน้นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน การปรับเปลี่ยนวิธีคิด การวางรากฐานจัดระบบวิธีการทำงานใหม่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม กำหนดเป้าหมายทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนดทิศทางการตลาดนำการพัฒนา การขับเคลื่อนสู่แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Destination) ด้วยการบูรณาการอย่างเป็นระบบ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และเชื่อมต่อกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ